นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เตรียมเสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎร ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กรณีให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา เคยมีประเด็นที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ สว.พร้อมคณะ ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาแล้ว และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร.หรือให้ ส.ส.ร.ทำหน้าที่รื้อรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ซึ่งมาจากอำนาจของประชาชน ต้องถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่
ส่วนกรณีที่รัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือยกเว้นหมวด 1 หรือ หมวด 2 ก็ไม่จำเป็นที่ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีกเช่นกัน เพราะเคยเกิดขึ้นแล้ว หากรัฐบาลไม่ต้องการทำประชามติ สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เป็นรายมาตรา หรือตามเงื่อนไขของมาตา 256 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้
นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีความเห็นว่าจะสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าควรทำประชามติกี่ครั้งนั้น ส่วนตัวมองว่าอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ไม่ควรเกิน 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 คือ เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อเงื่อนไขมาตรา 256 ซึ่งจะเป็นก่อนการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในวาระสาม และครั้ง 3 หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบทั้งฉบับโดยรัฐสภาแล้ว
การที่รัฐบาลเพิ่มประเด็นเรื่อยๆ ทั้งการแก้ พ.ร.บ.ประชามติ และส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ เพราะการศึกษาแนวทางการทำประชามตินั้น เป็นอำนาจเต็มของรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ที่รัฐบาลฟังพรรคการเมือง ประชาชน ถือเป็นวิธีปฏิบัติ หรือหาแนวร่วม ทั้งที่ข้อเท้จจริงไม่ฟังก็ได้ ดังนั้นจึงมองว่ารัฐบาลมีเหตุผลทางการเมือง ที่ไม่จำเป็นต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญ