นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ที่กำหนดว่ากรอบงบฯ แต่ละกระทรวง ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือรอคำของบประมาณที่ถูกอนุมัติจัดสรรในรายโครงการ โดยคาดว่าจะออกมาวันที่ 23 ธ.ค. และจะมีมติครม.วันที่ 26 ธ.ค. ซึ่ง กมธ.จะนำข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ มาประกบข้อมูลจากสำนักงบประมาณว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในงบประมาณปี 67 ไม่มีส่วนที่เกี่ยวกับการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าแหล่งที่มาของเงินในโครงการนี้ ไม่สามารถใช้แหล่งเงินจากงบประมาณเป็นหลักได้ เพราะรัฐบาลยืนยันแล้วว่าจะออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้
"ทราบกันดีว่ามีปัญหาหลายอย่าง เช่น จะขัดกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือวินัยหนี้สาธารณะหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ กำลังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เราก็อยากได้ความชัดเจนในเรื่องนี้เช่นกัน" นายณัฐพงษ์ กล่าว
ส่วนจะมีการนำข้อสังเกตที่ได้ ไปใช้ในการอภิปรายงบประมาณหรือไม่นั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีหลายอย่าง โดยเฉพาะระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ เช่น วาระล่าสุดที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอวาระเกี่ยวกับระเบียบแบ่งชั้นผู้รับเหมา ที่ค่อนข้างชี้ชัดว่าผู้รับเหมาชั้นพิเศษของกรมทางหลวงชนบท เอื้อให้เกิดการฮั้วประมูล เพราะเห็นได้ชัดว่าการประมูลของผู้รับเหมาชั้นพิเศษ มีความแตกต่างกับราคากลางเล็กน้อย ในขณะที่ผู้รับเหมารายอื่นสามารถประมูลงานได้ถูกกว่าถึงกว่า 20% จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการฮั้วประมูล ซึ่งทำให้ต้องเชิญหน่วยงานมาชี้แจง และแก้ไขกฎระเบียบเหล่านี้
สำหรับการเตรียมหัวข้อเพื่อแจกแจงให้พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมการอภิปรายนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรามีแผนว่าจะเปิดเผยข้อมูลคำของบ 5.8 ล้านล้านบาท เทียบคู่กับ 3.48 ล้านล้านบาท ที่สำนักงบประมาณจัดสรรมา ให้ สส.ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านช่วยกันตรวจสอบ เพราะสำนักงบประมาณเป็นผู้ถือหลักเกณฑ์เพียงผู้เดียวในการจัดสรรงบ
"ทางกมธ.ฯ ได้เข้าไปดูงานที่สำนักงบฯ แล้ว และได้คำชี้แจงกลับมาว่า หลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ได้เป็นลักษณะระเบียบที่ให้ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ นั่นคือ ไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ เป็นการตัดสินใจภายในลำนักงบฯ ทั้งหมด ดังนั้น จึงคิดว่าเป็นสิทธิและหน้าที่ของสส.ทุกคน ที่สามารถตั้งคำถามถึงการตัดงบประมาณว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ก่อนที่จะให้มีการผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 67" นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า งบประมาณปี 67 เป็นปีแรกที่ล่าช้ามาครึ่งปี ทำให้งบลงทุนที่เป็นรายจ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เลย ซึ่งเราได้เห็นข้อถกเถียงต่างๆ แล้วว่าวิธีการจ่ายงบประมาณด้วยการกู้และแจก กับการใช้แหล่งงบประมาณไปในแง่ของการลงทุน เราคิดว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจของการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐานจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในระยะยาวมากกว่า จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสภาฯ โดยเร็ว
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 ที่จะเข้าสภาฯ ต่อจากปี 67 นั้น กมธ.ฯ ตั้งใจจะให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 68 เป็นร่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอประกบกับร่างของฝ่ายบริหาร ดังนั้นในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงกำหนดส่งคำของบประมาณปี 68 ของทุกหน่วยงานนั้น ทาง กมธ.ฯ จะเรียกทุกหน่วยรับงบประมาณมาชี้แจงคำขอ แบบเดียวกับที่ดำเนินการกับงบประมาณรายจ่ายปี 67 แต่จะแตกต่างกันเล็กน้อย ตรงที่กมธ.ฯ จะมีเวลาพิจารณาได้เพิ่มขึ้น และสามารถให้ข้อเสนอกับสำนักงบฯ ได้ว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ที่สส.ในฐานะตัวแทนประชาชนอยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร
ในส่วนขั้นตอนของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 68 นั้น ในช่วงกลางม.ค.67 จะครบกำหนดส่งคำของบประมาณ ซึ่งหลังจากนั้นสำนักงบฯ จะรวบรวมเพื่อส่งให้ ครม.อนุมัติ และให้ความเห็นต่อไป