นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลจะเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า วิปรัฐบาลพร้อมเจรจา และพร้อมสนับสนุนร่างกฎหมายที่ได้รับการบรรจุไว้ในระเบียบวาระ
สำหรับรายละเอียดของการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะให้การสนับสนุนนั้นต้องไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นปัญหาสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และเป็นนัยที่รู้อยู่แล้วว่าทุกพรรคไม่เอาด้วย ดังนั้นจะหวังความสำเร็จได้ยาก พรรคก้าวไกลจะไปไม่รอด เพราะคะแนนไม่เพียงพอ
ส่วนกรณีที่แกนนำพรรคก้าวไกลเดินทางไปขอรับการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธอิสระ และแกนนำกลุ่ม กปปส. แบบหลบๆ ซ่อนๆ นั้น หากคิดจะโน้มน้าวให้ทุกพรรคการเมือง และ สว.ร่วมสนับสนุน อยากให้พรรคก้าวไกลดำเนินการอย่างเปิดเผย
"ผมไม่อยากให้เรื่องการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นภาพหลอน หรือภาพซ้อนเหมือนกับการจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล ที่ตั้งไม่สำเร็จ ผมให้กำลังใจ สำหรับสาระนั้นผมมองว่าหลักการของคนเราอาจจะแตกต่างกัน ความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรเอาโทษให้เป็นอาชญากร เพราะเป็นหลักการทั่วโลก และหลักการของพรรคเพื่อไทยเป็นแบบนั้น"
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก คัดค้านนิรโทษกรรม 3 คดีมั่นคงสำคัญคือการทุจริตชาติ คดีอาญาร้ายแรง เช่น คดีฆ่ากันตายแล้วอ้างเหตุทางการเมืองและคดีความผิด ม.112
พร้อมระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ของพรรคก้าวไกลที่มีรากมาจากความเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า ในการสนับสนุนให้มวลชน สมาชิก สส. คณะกรรมการบริหาร รวมถึงผู้นำทางความคิดหลายคน ที่ไปจาบจ้วงละเมิดจนผิดกฎหมาย โดยเฉพาะคดีที่กลุ่มแกนนำและหัวหน้าพรรคได้เคลื่อนไหวเป็นนโยบายในการล้ม แก้ไขกฎหมาย และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วจะมาอ้างเหตุเพื่อนิรโทษกรรม เป็นการเขียนกฎหมายเพื่อช่วยในสิ่งที่ตัวเองกระทำความผิด หากสำนึกว่ากระทำผิดก็สามารถทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลได้ เช่นเดียวกับแกนนำหลายบุคคลที่เป็นนักวิชาการในอดีตก็เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษมาแล้ว
"ผมไม่เห็นด้วย 100% และเชื่อว่า หากเสนอมา สว.ก็คงไม่ให้ความเห็นชอบ"
ส่วนคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็น เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อส้ม ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นเรื่องทางการเมืองก็ให้นิรโทษกรรมได้ และเห็นว่าเรื่องนี้รัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้เลย หากไม่มีเงื่อนไข 3 เรื่องดังกล่าวก็พร้อมที่จะสนับสนุน
"สรุปว่าเห็นด้วยกับกระบวนการความปรองดองสมานฉันท์และขั้นตอนที่จะทำนั้น ไม่จำเป็นต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ รัฐบาลนี้สามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้เลย แต่ต้องชัดเจนว่ามีเรื่องใดบ้างและต้องไม่มี 3 เรื่องนี้ ซึ่งถ้าออกเป็นพระราชบัญญัติก็ต้องใช้เวลานานหน่อย ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ก็เห็นด้วยในหลักการว่า ถ้าจะนิรโทษกรรมจะต้องยึดหลักเรื่องนิรโทษกรรมและกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน ต้องยึดหลักความเข้าใจที่มีต่อกันแบบมีผลในระยะยาวและเป็นจริงได้ ไม่ใช่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดแล้วกลับไปทำความผิดอีกต่อไป เพราะจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มั่นใจว่า สังคมไทยชัดเจนหรือยังว่า จะปรองดองสมานฉันท์กันแบบถาวรจริงหรือไม่ เพราะเงื่อนไขที่ยื่นมาในการนิรโทษกรรมคดี ม.112 ก็ดีหรือคดีทุจริต ล้วนเป็นเงื่อนไขที่เขียนกฎหมายเพื่อให้ตัวเองซึ่งกระทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษมากกว่า ที่จะเดินหน้าไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริง" นายสมชาย ระบุ
หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แล้วส่งมาวุฒิสภาจะไม่คว่ำ แต่จะช่วยกลั่นกรองแก้ไขให้ดีขึ้นโดย ต้องยึดในหลักการปรองดองสมานฉันท์แท้จริง สว.ส่วนใหญ่ก็คงจะเห็นด้วยเช่นนั้น ในเรื่องความปรองดองสมานฉันท์มีความพยายามทำมาหลายรอบแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะหลักการปรองดองที่ดีที่ทั่วโลกดำเนินการได้ผล คือ การยินยอมพร้อมใจกันทุกฝ่ายที่จะปรองดองในความเห็นต่าง พร้อมแสดงออกยอมรับผิดในสิ่งที่เคยกระทำต่อกันและกัน ซึ่งสังคมไทยต้องมีความเห็นพ้องร่วมกันทั้งสังคมด้วย จึงจะปรองดองสมานฉันท์กันได้จริง