นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวถึงภาพรวมหนี้ของข้าราชการทั้งระบบว่า ข้าราชการที่อยู่ในระบบเงินกู้สหกรณ์ขณะนี้ มียอดรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่กระทรวงศึกษาธิการ ประมาณ 8 แสนคน กระทรวงสาธารณสุข 2 แสนกว่าคน ข้าราชการตำรวจ 2.3 แสนคน สำหรับแนวทางการแก้ไขหนี้สินของข้าราชการนั้น รัฐบาลจะดูแลข้าราชการในระบบสวัสดิการ และดูแลเรื่องการหักเงินเดือนให้ทุกหน่วย
ส่วนการแก้ไขหนี้บัตรเครดิตที่เก็บดอกเบี้ยอัตรา 18% ต่อปีนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุในการแถลงข่าวแก้หนี้นอกระบบให้เก็บดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่เกิน 15% ต่อปี เรื่องหนี้บัตรเครดิต คิดอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงเดิมบวกกับเบี้ยปรับในรายการผิดชำระ ซึ่งมีการอ้างอิงประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำได้ไม่เกิน 3% ดังนั้นการประชุมแก้ไขหนี้ในส่วนที่เหลือ จะมีแนวทางออกมา แต่ขณะนี้ขอพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้พร้อมที่จะเสนอนายกรัฐมนตรีแถลงในวันที่ 12 ธ.ค.นี้
ด้าน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ กล่าวว่า จากการรับฟังปัญหาหนี้ของข้าราชการพบว่า การหักเงินเดือนและการชำระหนี้ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของระบบสินเชื่อสวัสดิการ ทำให้ข้าราชการมีเงินเดือนเหลือไม่ถึง 30% ดังนั้นคณะกรรมการชุดนี้ จึงพิจารณาร่วมกันว่าจะต้องทำให้ข้าราชการมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%
สำหรับแนวทางการแก้ไขหนี้สินข้าราชการ จะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สามารถให้ข้าราชการปลดหนี้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าบางรายไม่สามารถทำให้เงินเหลือมากกว่า 30% ของเงินเดือนได้ จะใช้วิธีการขยายงวดชำระเงินต้นออกไปให้อายุถึง 75 ปี จะส่งผลให้เงินต้นลดลงโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ จะหาเงินกู้พิเศษจากสหกรณ์ออมทรัพย์ของตัวเองในอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม และหากสมมติว่ายังเหลือเงินไม่ถึง 30% อีก ซึ่งเชื่อว่าจะเหลือแค่บางรายเท่านั้น เราจะนำมาวิเคราะห์และแก้ไขเฉพาะราย เพื่อให้เกิดการปลดหนี้ให้มีสภาพชีวิตที่อยู่ด้วย โดยจะเดินหน้าและเกิดผลสัมฤทธิ์ในเดือน ม.ค.67 เป็นต้นไป แต่ต้องขอความร่วมมือจากกรมบัญชีกลาง และต้นสังกัดของข้าราชการด้วย