นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch ประเด็นค่าไฟว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟที สำหรับงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 67 เพิ่มขึ้นเป็น 69.07 สตางค์/หน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมพุ่งจาก 3.99 บาท/หน่วย ไปอยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย จึงทำให้หลายคนเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมอยู่ดีๆ ค่าไฟถึงขึ้นไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งที่จริงแล้วต้นทุนค่าไฟของต้นปีหน้า อยู่ที่แค่ 4.05 บาทเท่านั้น ส่วนเกิน 64 สตางค์มาจากไหน
ต้องย้อนกลับไปถึงมาตรการที่รัฐบาลในอดีตเคยใช้ในการลดค่าไฟ วิธีหลักๆ คือให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าไว้ก่อน รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็ใช้วิธีเดียวกัน ทำให้ปัจจุบันภาระหนี้ที่ กฟผ. แบกไว้มีมูลค่าสูงถึง 95,777 ล้านบาท จนทาง กฟผ. เองแสดงความกังวลถึงการมีมติให้ยืดหนี้ก้อนนี้ออกไป เพราะย่อมสร้างต้นทุนให้ กฟผ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ขาดสภาพคล่อง กระทบต่อความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อค่าไฟในอนาคตของประชาชนแน่นอน
โดย กกพ. มีการประกาศรับฟังความคิดเห็นเรื่องค่าไฟ สำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย.67 ใน 3 กรณี คือ
กรณีที่ 1 ถ้าต้องการให้ กฟผ. ชำระหนี้ที่แบกอยู่ภายใน 4 เดือน ค่าไฟที่ควรจะเป็น จะสูงถึง 5.95 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากระดับ 3.99 บาท/หน่วยในปัจจุบัน ซึ่งตนถือว่าเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด
กรณีที่ 2 คือให้ กฟผ. จ่ายคืนภาระหนี้ภายใน 1 ปี ค่าไฟจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาท/หน่วย
กรณีที่ 3 อนุญาตให้ กฟผ. ยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ออกไปเป็น 2 ปี ค่าไฟจะอยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย
พูดง่ายๆ คือ กฟผ. มีหน้าที่แบกหนี้ไว้ชั่วคราวเท่านั้น รอการเก็บเงินจากประชาชนมาจ่ายหนี้ทีหลัง
"หากใช้มาตรการแบกหนี้ ยืดหนี้ แบบเดิมอีก ก้อนหนี้ที่สุดท้ายประชาชนต้องจ่าย ก็จะใหญ่ขึ้นอีก มีการคำนวณไว้ว่า หากมีการตรึงค่าไฟในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 ไว้เท่าเดิมที่ 3.99 บาท มูลค่าหนี้จะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 140,000 ล้านบาท และสุดท้ายเมื่อหมดโปรโมชั่น เราอาจจะเห็นประชาชนต้องจ่ายค่าไฟ 6 บาท/หน่วยก็เป็นได้" นายศุภโชติ กล่าว
นายศุภโชติ ระบุว่า ปัญหาพลังงานของประเทศเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทางรัฐบาลเคยตอบรับและเห็นด้วย แต่ไม่เคยนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าในระยะเร่งด่วน สามารถทำได้ทันทีมี 3 ข้อ
- ข้อ 1 การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ที่พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ต่างสนับสนุนและใช้หาเสียงมาด้วยกัน พวกเราคิดว่าการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ลดลงอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากปัจจุบันก๊าซราคาถูกที่ขุดจากอ่าวไทย ถูกนำไปให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก่อน ส่วนก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ ส่วนใหญ่มาจากก๊าซที่มาจากการนำเข้าซึ่งมีราคาแพงมาก เท่ากับตอนนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ไฟถูก แต่ประชาชนใช้ไฟแพง
ดังนั้น หากนำ 2 ส่วนนี้มาถัวเฉลี่ยกัน แล้วค่อยกระจายให้ภาคเอกชนกับการผลิตกระแสไฟฟ้าของประชาชนในอัตราส่วนเท่าๆ กัน จะทำให้ต้นทุนของไฟฟ้า ถูกลงได้มากกว่าปัจจุบันถึง 70 สตางค์/หน่วย
- ข้อ 2 การเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่รัฐเคยทำกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ภาคเอกชนเพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการมีจำนวนโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้ามากเกิน บางโรงที่แทบจะไม่ต้องผลิตไฟฟ้าเลย หรือไม่ได้เดินเครื่องเลยตลอดปี กลับได้เงินผ่านค่าความพร้อมจ่ายนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาสัญญา 25 ปี ซึ่งในปีที่ผ่านๆ มา ประชาชนต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายนี้ที่แฝงอยู่ในค่าไฟของประชาชนทุกคน ให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องกว่าเกือบหมื่นล้านบาทต่อปีฟรีๆ พรรคก้าวไกล ได้ศึกษาผลลัพธ์ที่ได้จากการแก้ไขค่าความพร้อมจ่ายนี้ลง จะสามารถประหยัดต้นทุนค่าไฟได้เพิ่มอีก 15 สตางค์/หน่วย
- ข้อ 3 หยุดการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนที่ลาว กว่า 3,000 เมกะวัตต์ ที่เซ็นมาในราคาที่แพงมาก 2.7 บาท/หน่วย หรือโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ที่ทั้งแพง และศาลปกครองกลางชี้ว่ากระบวนการมีปัญหา อาจทำให้ประเทศเสียประโยชน์
"อย่าอ้างเลย ว่าประเทศต้องการพลังงานสะอาด เรามีอีกหลายวิธีที่ทำให้ประเทศเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดได้ ทั้งการปลดล็อกสายส่ง หรือการเปิดตลาดพลังงานสะอาดเสรี ซึ่งแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟของประชาชนเลย หากแก้ปัญหาที่โครงสร้างทั้ง 2 ข้อ และนำเงินที่เหลืออยู่ไปใช้หนี้ที่ กฟผ. แบกอยู่ ในที่สุด เราอาจได้เห็นค่าไฟที่สะท้อนความเป็นจริงและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่อัตรา 3 บาทต้นๆ ก็เป็นได้" นายศุภโชติ ระบุ