นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำหลักฐานเข้าร้องเรียนต่อนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ตรวจสอบ ประเด็นเกี่ยวข้องกับการทุจริตใน 3 ประเด็นคือ
1) การลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน โดยมีข้าราชการระดับกรม 3 กรมมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะโยงไปถึงนักการเมืองบางคน
2) การสวมสิทธิ์ส่งออกตีนไก่ไปประเทศจีน ซึ่งเกี่ยวพันกับอดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์
3) การส่งออกน้ำมันไปประเทศเมียนมาแล้ววนกลับมาจำหน่ายในประเทศ เพื่อขอคืนภาษีแบบผิดกฎหมายจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทำมาแล้ว 6 ปี
"เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงผู้ประกอบการและเกษตรกร ประเมินมูลค่าความเสียหายเป็นแสนล้านบาท" นายอัจฉริยะ กล่าว
โดยหลักฐานที่นำมามอบให้ กมธ.ความมั่นคงฯ ในวันนี้เป็นหลักฐานเบื้องต้น หาก กมธ.เรียกให้เข้ามาชี้แจงก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคลที่รับเงินใต้โต๊ะตั้งแต่ระดับล่างจนถึงอธิบดี และเชื่อมโยงกับ รมต. ซึ่งตนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทั้งเรื่องหมูเถื่อนและตีนไก่
"ถ้าเอาแบบจริงจังไม่เกรงใจกันก็ถึงกันหมดทุกคน เพราะหลักฐานทิ้งร่องรอยด้วยเอกสาร คนทำชิปปิ้งก็ให้การรับสารภาพแล้ว รวมถึงมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมศุลกากรก็ให้การซัดทอดไปถึงผู้ใหญ่หมดแล้ว ขณะนี้มีครบแล้ว" นายอัจฉริยะ กล่าว
ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องหมูเถื่อนไม่ได้มีแค่การลักลอบนำเข้ามาแบบผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาทางสุขภาพ ปัญหาที่เกษตรกรอาจจะได้รับและอื่นๆอีกมากมาย
ทั้งนี้ กระบวนการการตรวจสอบหมูเถื่อนนั้น แปลกใจว่าทำไมถึงยื้อกันนานขนาดนี้ ถ้าเรื่องไปถึง DSI และความพยายามแสดงออกของฝ่ายต่างๆ เรื่องนี้ควรจะจบได้แล้ว แต่ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการจัดการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ ระบบกฎหมายของเราจะมีใครเชื่อถือ
นอกจากนี้ ยังไม่นับว่าอาจจะมีคนที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมือง เป็นคนสำคัญของบ้านเมือง เป็นคนที่มีชื่อเสียงของบ้านเมือง อาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องอีกด้วย นอกจากนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรราคาหมูในประเทศที่อาจส่งผลกระทบไปถึงเกษตรกรต่อไป
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาจริงๆ คือการจัดการกับคนที่เรียกว่านายทุนหรือปลาตัวใหญ่ของเรื่องนี้ ถ้าไม่มีการจัดการไปถึงระดับนั้น สุดท้ายก็เป็นแค่การตัดตอน
"กระบวนการเหล่านี้เหมือนปล่อยให้ประชาชนที่เป็นเกษตรกรอยู่บนเรือแล้วปล่อยให้อยู่กลางทะเล จะอยู่อย่างไร จะไปรอดหรือเปล่า ไม่มีทางรู้ สิ่งสำคัญเมื่อเกิดปัญหาที่เป็นวิกฤตภาครัฐมีหน้าที่จะต้องให้ความจริงกับประชาชน อย่าไปกังวลว่าถ้าให้ข้อมูลไปแล้วจะมีผลกระทบในลักษณะที่มีความกังวลหรือไม่ เดี๋ยวจะมีผลกระทบต่อตลาดหรือไม่ บางครั้งหากมีวิกฤตเกิดขึ้นอย่าคิดว่าคนอื่น เขาไม่ทราบถ้าเราให้ข้อมูลกับประชาชนการเตรียมตัวต่างๆก็จะตามมาประชาชนก็จะได้รับมือได้ นี่คือสิ่งที่ตนคิดว่าสำคัญและเป็นบทเรียนของกระทรวงเกษตรฯในรอบที่แล้ว ในการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆให้ทางทันท่วงที" นายรังสิมันต์ กล่าว