นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพปริมณฑลและหลายพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ป่วยทางด้านระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอดจากฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ จากงานวิจัยที่เคยมีการศึกษาในช่วงที่เกิดมลพิษทางอากาศรุนแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลาสองเดือน พบว่า เกิดการต้นทุนและค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพและสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3,100 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวพื้นที่กรุงเทพฯ 1,000-3,500 ล้านบาท การรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ 1,200 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการป้องกันมลพิษและการสวมใส่หน้ากากอนามัย 400-1,900 ล้านบาท คนจนในกรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน หรือผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่มลพิษเข้มข้นสูง ตำรวจจราจร พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานขับรถสาธารณะและกระเป๋ารถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งไม่มีเครื่องป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและมีสุขภาพย่ำแย่ลง โดยเฉพาะมีวิจัยชี้ว่า ตำรวจจราจรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ปฏิบัติงานริมถนนในกรุงเทพฯมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง นอกจากนี้ผู้ที่ต้องเผชิญการจราจรติดขัดที่ต้องอยู่บนท้องถนนเกิน 4 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น เมื่อปีที่แล้วมีผู้ร้องเรียนในไทยเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะมีพิษ น้ำเน่าเสีย มลพิษทางอากาศ 14,800 ข้อร้องเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ
การศึกษาวิจัยรายละเอียดในเชิงลึกเพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของประชาชน ต่อระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและมิติต่างๆ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและสำคัญเพื่อกำหนดการแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อให้ทุกคนได้รับความคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงอากาศสะอาด รายงานประเมินผลกระทบมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ทุกๆ ปีมีประชากรจากทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษรุนแรงทางอากาศมากกว่า 7 ล้านคน ขณะที่เมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่ามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่า 70% โดยเฉพาะเมืองที่มีปัญหาความยากจนจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยกเว้นช่วงแพร่ระบาดของโควิดปี 63-64 ขณะที่เมืองในยุโรปมีสถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศในสแกนดิเนเวียยังทำให้การลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจมีคุณภาพสูงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อให้การทำร้ายสุขภาพของประชาชนอีกด้วย ผลกระทบสงครามยูเครนรัสเซียทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อน หลายประเทศในยุโรปหันมาใช้ถ่านหินสำหรับเป็นแหล่งพลังงานเพราะไม่สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอันเป็นผลจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตอบโต้กันไปมาระหว่างนาโต้กับรัสเซีย
วิกฤตมลพิษทางอากาศ หมอกควัน และ PM2.5 ในภาคเหนือตอนบน กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่มาบตาพุด ระยองรุนแรงมากตามลำดับ จึงขอเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้เด็ดขาด ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อทำลายสุขภาพของประชาชน ผู้คนอยู่ในสภาพตายผ่อนส่ง มลพิษทางอากาศยังบ่อนทำลายเศรษฐกิจไทย รบกวนการดำเนินชีวิตตามปรกติของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติหมอกควันและมลพิษทางอากาศ หมอกควันและมลพิษที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มาจากการเผาป่าและพืชไร่ในเมียนมาร์และลาว การทำการเกษตรกรรมอย่างขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คน
โดยมีข้อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
มาตรการแรก เสนอให้การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติแบบเร่งด่วน ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้ง ลดความแออัด วางผังเมือง ระบบขนส่งมวลชนของอีอีซีและเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
มาตรการที่สอง ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยมีกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษหรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ วิธีนี้อาจมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการลดมลพิษที่แตกต่างกันและไม่ได้ปรับเปลี่ยนต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการก่อมลพิษ
มาตรการที่สาม ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ แต่ภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะและปกป้องสิ่งแวดล้อม การที่รัฐมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมมากนั้น หมายความว่ารัฐนั้นย่อมมีการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไปด้วย ดังนั้นรายได้จึงมิใช่เป้าหมายของการจัดเก็บ ภาษีสิ่งแวดล้อม โดยหลักการที่สำคัญของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม คือ หลักการ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) กล่าวคือ ผู้ก่อมลพิษทางอากาศหรือมลพิษใดๆควรเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ไปในการควบคุมบำบัดและป้องกันมลพิษ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้นทุนของการใช้มาตรการต่างๆ ของรัฐ ในการควบคุมและป้องกันมลพิษควรจะสะท้อนออกมาเป็นต้นทุนภายในของการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง หรือการซื้อขายใบอนุญาตสิทธิในการปล่อยมลพิษหรือซื้อขายสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็ได้ หรืออาจใช้ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยควรมีการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
มาตรการที่สี่ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้
มาตรการที่ห้า ต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง
มาตรการที่หก ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และส่งเสริมและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในอัตราก้าวกระโดด
มาตรการที่เจ็ด สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด โดยปรับเปลี่ยนให้รถสาธารณะให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด
มาตรการที่แปด เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือพลังงานจากฟอสซิลลง
มาตรการที่เก้า การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลงและทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ และ เปลี่ยนรถโดยสารขนส่งมวลชนให้เป็นรถไฟฟ้า ส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยใช้มาตรการภาษีจูงใจ
มาตรการที่สิบ ปรับผังเมืองให้บรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต
มาตรการที่สิบเอ็ด มาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้นอาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือหรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน การกำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ การห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นในในบางช่วงเวลา เป็นต้น
มาตรการที่สิบสอง ควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act ต้องมีกลไกหรือกฎหมายที่สามารถแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศได้ เช่น การผ่านกฎหมายมลพิษและหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) นอกจากต้องหยุดยั้งการตัดไม้เผาป่าเพื่อมาทำการเกษตรด้วยมาตรการจูงใจและสนับสนุนให้มีการจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรด้วยวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ต้องมีการดำเนินการแก้ปัญหาข้ามพรมแดนอีกด้วย การใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษและควบคุมไม่ให้มีการตัดไม้เผาป่าเพื่อทำการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านด้วยการออกกฎหมายมลพิษและหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) แบบเดียวกับสิงคโปร์ กฎหมายลักษณะนี้ในสิงคโปร์จะเอาโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อบริษัทสิงคโปร์ที่เข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมัน และ ผลิตเยื่อกระดาษด้วยการตัดไม้เผาป่าเตรียมพื้นที่เกษตร หลังจากออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้ในปี 57 สถานการณ์หมอกควัน มลพิษทางอากาศอันเป็นผลจากการเผาป่าในอินโดนีเซียและข้ามพรมแดนมายังสิงคโปร์และมาเลเซียได้ลดลงอย่างมาก ไทยจึงควรออกกฎหมายต่อต้านหมอกควันข้ามพรมแดนโดยเร่งด่วน สำหรับการเผาซากในนาข้าว ไร่อ้อยและไร่ข้าวโพดในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน รัฐบาลควรมีมาตรการอุดหนุนต้นทุนการเตรียมพื้นที่เกษตรกรรมให้กับเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่และบริษัทเกษตรกรรมในลักษณะยิ่งมีรายได้สูง ยิ่งอุดหนุนน้อย ยิ่งมีรายได้น้อย ยิ่งอุดหนุนมาก ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เครื่องจักรสีเขียวในการทำการเกษตรกรรม ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตของทุกคนจึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนและบางกรณีต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศข้ามพรมแดนอีกด้วยจึงจะแก้ปัญหาด้อย่างยั่งยืน
มาตรการที่สิบสาม หากมลภาวะทางอากาศรุนแรงมากๆ ต่อสุขภาพประชาชนในบางพื้นที่ ต้องลดการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก (ลดการผลิตปูนซีเมนต์ลง ลดการผลิตพลังงานจากถ่านหิน ลดการผลิตเหล็ก ลดการผลิตปิโตรเคมี) ลงในบางช่วงเวลา ลดการผลิตที่ปล่อยมลพิษทางอากาศมากในช่วงเวลาที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรง และ ใช้เวลาในช่วงเวลาดังกล่าวหยุดเดินเครื่องจักรและซ่อมแซมเครื่องจักรในโรงงานซึ่งต้องทำทุกปี การบริหารจัดการให้เหมาะสมจะทำให้ คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นโดยไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก
มาตรการที่สิบสี่ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศความเข้มข้นสูงในกรุงเทพและปริมณฑล
หากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้อไปเกินกว่า 2 เดือนจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500-6,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย หากมีสภาพมลภาวะทางอากาศรุนแรงเกินสองเดือนจากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวในกรุงเทพและปริมณฑล การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งและโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ ขณะนี้พื้นที่และจังหวัดที่มีคุณภาพอากาศดีที่สุด คือ นครราชสีมา เนื่องจากมีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อุทยานเขาใหญ่ วังน้ำเขียว ไม่ได้รับปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ควันพิษจากการจราจรแออัดและโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่มากนัก
ภาวะเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ด้วยว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไขสูงถึง 20% ของจีดีพีโลก ตนคาดการณ์ว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจนี้จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์ภาวะโลกร้อนและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศจะได้รับการแก้ไขให้บรรเทาลง จากรายงานวิเคราะห์ขององค์กรกรีนพีซ (Greenpeace) เฉพาะปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเดียวทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกที่เกี่ยวเนื่องกับฝุ่น PM2.5 ในปี 61 ประมาณ 4.5 ล้านคน มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ (คำนวณเป็น 3.3% ของจีดีพีโลกในปี โดยจีนมีผลกระทบต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงสุดที่ 6.6% ของจีดีพีของประเทศ รองลงมา คือ อินเดีย มีต้นทุนทางเศรษฐกิจของมลพิษทางอากาศอยู่ที่ 5.4% ของจีดีพีประเทศ
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไตรภาคีในต้นปีหน้านั้นตนเห็นด้วย หากไม่ปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม ไทยจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การปรับเพิ่มค่าจ้างจะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อภายในระบบเศรษฐกิจ และมีแรงกดดันเงินเฟ้อน้อยมาก เพราะไม่ได้ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกันระบบไตรภาคีต้องปรับค่าจ้างของแรงงานนอกระบบให้เป็นค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage) ค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) นั้นไม่เพียงพอ แรงงานนอกระบบมักมีสภาพการจ้างที่ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นธรรม ขาดความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งมักถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน วันไหนขาดงานก็จะไม่ได้ค่าจ้าง แม้นจะลางานเนื่องจากการเจ็บป่วยก็ตาม ล่าสุด ทางอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย ระเบียบ ปรับปรุงการกำหนดอัตราเงินสมทบ การเพิ่มการจัดเก็บเงินสมทบและการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคมจึงเสนอให้บอร์ดประกันสังคมให้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้น โดยเดิมนั้น มีเงินทดแทนอัตรา 50 บาทต่อครั้ง ให้เพิ่มเป็น 200 บาทต่อครั้ง (ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง) ถือเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากกว่า 400% เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีเจ็บป่วยประเภทผู้ป่วยนอกให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 นอกจากนี้การเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวยังเป็นไปตามอนุสัญญา 102 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุว่า ต้องจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยอย่างน้อย 45% จากฐานค่าจ้าง
ปัจจุบันค่าจ้างของแรงงานภาคอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ คือ 1.ระบบค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างในสถานประกอบการกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีและการประกาศบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงแรงงาน เดิมระบบค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ต่อมาในปี 44 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีในจังหวัดของตัวเอง และมีการปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 300 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2.ระบบค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการที่นายจ้างเป็นผู้กำหนดจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนตามผลงานในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาในสถานประกอบการหลายแห่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้มีกำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน ปัญหาอีกประการหนึ่งในปัจจุบัน คือ การไม่มีความแตกต่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องการให้เป็นเพียงค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือในระยะแรกของการทำงานไม่ใช่ค่าจ้างของลูกจ้างที่ทำงานมาหลายปีจนมีทักษะฝีมือแล้ว ค่าจ้างในระบบนี้มักเป็นไปตามค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 3.ระบบค่าจ้างรายชิ้น ตามจำนวนชิ้นงานโดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการผลิต ใช้กับแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งค่าจ้างถูกกำหนดโดยผู้ว่าจ้าง จากการศึกษาของ ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ และ นภาพร อติวานิชพงศ์ พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับเมื่อคำนวณตามชั่วโมงการทำงานแล้วต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน และโดยส่วนใหญ่ลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้างรายชิ้น ยกเว้นในกรณีมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าสูงมีความจำเป็นต้องการแรงงานเพื่อเร่งผลิต อำนาจต่อรองของลูกจ้างรายชิ้นจึงสูงขึ้น ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล รูปแบบการจ้างงานและค่าจ้างจะอยู่ในระบบนี้มากขึ้นตามลำดับ เพราะมีความยืดหยุ่นสูงกว่าระบบค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทนไปสู่ลูกจ้างทำงานในระบบนี้หรือทำงานตามบ้าน เพื่อให้มีการขยายความคุ้มครองประกันสังคมไปยังแรงงานกลุ่มดังกล่าวและทำให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน 4.ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบและแรงงานอิสระที่มักยึดการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นพื้นฐาน โดยไม่ใช่ค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage) แรงงานนอกระบบมักมีสภาพการจ้างที่ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นธรรม ขาดความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งมักถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
หลักเกณฑ์ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล ตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำหมายถึง อัตราค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว (ตัวลูกจ้าง+ภรรยา 1+บุตร 2 คน) ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขเป็นเกณฑ์การพิจารณา ขณะที่หลายประเทศกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งไทยมิได้ใช้คำนิยามดังกล่าวขององค์การแรงงานระหว่างประเทศมาเป็นแนวทางในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ และต้องพิจารณาดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและความพร้อมของภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจอีกด้วย หากเราสามารถจ่ายได้ตามคำนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สถาบันครอบครัวจะเข้มแข็งขึ้น ลูกๆ ของคนงานจะได้รับการดูแลให้ดีขึ้นด้วยค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น แต่สถานประกอบการขนาดเล็กอาจไม่มีความสามารถในการจ่าย การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปีนั้น แต่ละประเทศก็จะมีแนวทางและหลักเกณฑ์ของตนเองแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของ ภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living) ของปีนั้นๆ เป็นหลัก หากภาวะค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็จะต้องปรับเพิ่มตามไปเท่านั้น เรียกว่า ปรับเพิ่มตามภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living Adjustment) เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ลูกจ้างอาจไม่มีเงินเพียงพอในการเก็บออม คณะกรรมการค่าจ้างประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ หรือระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณากำหนด ประเทศไทยใช้มาทั้งระบบอัตราเดียวทั่วประเทศและระบบหลายอัตรากำหนดตามพื้นที่กลุ่มจังหวัดต่างๆ แต่ในหลายพื้นที่ของประเทศองค์กรลูกจ้างมีความอ่อนแอหรือไม่มีองค์กรลูกจ้างอยู่ การปรับเพิ่มค่าจ้างจะน้อยมาก การปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงขึ้นอยู่กับอำนาจตัดสินใจของนายจ้างและรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเท่าไหร่ก็อยู่ที่การเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคี ส่วนการปรับขึ้นเท่าไหร่ก็ต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและภาวะเศรษฐกิจด้วย
อย่างไรก็ตาม ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยให้สูงกว่าเงินเฟ้อ ขบวนการแรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานเคยเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศมาหลายปีแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยการปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติเพื่อให้เกิดผลดีต่อสวัสดิภาพต่อแรงงานอย่างแท้จริง และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ รวมทั้งเพิ่มต้นทุนของการผลิตมากเกินไป การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและใช้กลไกไตรภาคี