ครบ 120 วันตามระเบียบการรักษาตัวนอกเรือนจำของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ นับตั้งแต่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยและเข้ามอบตัวในวันที่ 22 ส.ค.66 ซึ่งตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์จะต้องขอความเห็นจากแพทย์แจ้งผลการรักษาให้กรมราชทัณฑ์รับทราบเพื่อพิจารณาว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องพักอยู่นอกเรือนจำต่อหรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องส่งรายงานการให้กับ รมว.ยุติธรรม รับทราบและพิจารณาตามขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องผลการรักษาอาการของนายทักษิณ ซึ่งอาจจะอยู่ในกระบวนการของทางกรมราชทัณฑ์ แต่ตามระเบียบแล้วมีกำหนดเวลาในการส่งรายงานต่อรัฐมนตรีภายใน 5-7 วันหลังครบกำหนด 120 วัน
ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการตำรวจ ที่มีนายชัยชนะ เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานจะเดินทางมาโรงพยาบาลตำรวจเพื่อขอตรวจสอบเรื่องอาการป่วยและเข้าพบนายทักษิณนั้น พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า พื้นที่การควบคุมผู้ต้องขัง ตามคำสั่งศาลเป็นพื้นที่รักษาความปลอดภัย อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ขณะที่โรงพยาบาลตำรวจทำหน้าท่เพียงให้การรักษาอาการผู้ป่วยเท่านั้น
อีกทั้งพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 (มาตรา 7) มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้
บรรยากาศที่โรงพยาบาลตำรวจ บนชั้น 14 อาคารมหาภูมพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ซึ่งเป็นสถานที่รักษาตัวของนายทักษิณ ยังคงมีตำรวจเฝ้าประจำการดูแลความเรียบร้อย โดยเฉพาะบริเวณปีกซ้ายของอาคารมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายประจำการอยู่หน้าห้อง 1401 ซึ่งเป็นห้องพักของนายทักษิณ และมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 1 นายนั่งประจำการอยู่ด้วย ขณะที่ฝั่งปีกขวา จากเดิมก็เป็นห้องพักฟื้นของผู้ป่วยแต่ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และตำรวจจัดโต๊ะที่นั่งคล้ายประจำการ ขณะที่ป้ายแจ้งข้อมูลของแต่ละชั้นในอาคารพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงข้อความของชั้น 14 จากเดิมเคยระบุว่าเป็นหอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง ปัจจุบันมีข้อความสั้นๆว่า "หอผู้ป่วยพิเศษ"