นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ กมธ. ได้เชิญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มาชี้แจงความเห็นต่อการออกระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ที่ถูกสังคมตั้งคำถามว่าเอื้อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่
โดยมี น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าชี้แจง ขณะที่กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ไม่ได้มาชี้แจงด้วยตนเอง แต่ส่งนายสมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ กองทัณฑวิทยา มาชี้แจงแทน
น.ส.ปิติกาญจน์ ชี้แจงต่อ กมธ. ว่า ความเห็นที่ กสม.เสนอไป คือให้กรมราชทัณฑ์จำแนกผู้ต้องขังออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งตามหลักกฎหมายและหลักสากล จะต้องสันนิษฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ 50,000 คน ที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี และ 2. นักโทษเด็ดขาด ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะต้องมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน
ด้านนายวสันต์ ยืนยันว่า คำแถลงการณ์ กสม. เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ถูกพาดพิง และเกรงว่าสังคมจะเข้าใจผิด จึงขอชี้แจงว่า ข้อเสนอของ กสม. เมื่อตอนตรวจเยี่ยมเรือนจำปี 62 คือ ข้อเสนอแก้ปัญหาความแออัดของเรือนจำ ซึ่งมีประเด็นเข้ามา คือผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสู้คดี ยังเป็นแค่จำเลย และบางส่วนไม่ได้รับการประกันตัว ดังนั้น จึงเสนอว่าควรปฏิบัติให้ต่างกับนักโทษเด็ดขาด โดยมีข้อเสนอร่วมกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะรมว.ยุติธรรมในขณะนั้น ว่าบุคคลเหล่านี้ควรสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
หลังจากนั้น ได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ถึงหลักของ "ผู้ถูกกล่าวหา" กับ "นักโทษเด็ดขาด" และยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ระเบียบโดยตรง และยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ในเรื่องของนักโทษที่ป่วยหนัก หรือป่วยจิตเวช
"กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหา จะป่วยหนักติดเตียง หรือจิตเวชนั้น คนที่จะสั่งได้ ต้องเป็นศาลเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นว่ากรมราชทัณฑ์จะสั่งเองทั้งหมด" นายวสันต์ ระบุ