"ภูมิธรรม" ยันฟังเสียงส่วนใหญ่ ปัดมัดมือชก ทำประชามติคำถามเดียว

ข่าวการเมือง Tuesday December 26, 2023 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการฯ กำหนดคำถามเดียวในการทำประชามติ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการมัดมือชกประชาชน หรือไม่ได้เป็นคำถามที่เปิดกว้างตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และแกนนำพรรคก้าวไกลระบุ เพราะที่ประชุมได้พิจารณาอย่างรอบด้านจากความคิดเห็นของทุกภาคส่วนแล้ว

"มัดมือชกตรงไหน ถามแบบไหนก็มัดมือชก ถ้าพูดแบบนี้ เมื่อวานที่ประชุมรับฟังความคิดเห็น ทั้งสนับสนุน และไม่สนับสนุน โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแบบทั่วถึง และมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งกระจายไปในแต่ละภาค และมีตัวแทนจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายศาสนา และอาชีพ แต่จะให้การสอบถามความคิดเห็นเป็นเอกฉันท์ก็คงเป็นไปไม่ได้ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลในรัฐสภา" นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม ยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องแรก โดยอ้างอิงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลจะทำเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ที่ได้พูดคุยกันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ที่ไม่เอาหมวด 1 หมวด 2 ก็มี แต่เป็นส่วนน้อย ตนจึงได้บอกว่าต้องเอาเสียงส่วนใหญ่ ยืนยันไม่ใช่การมัดมือชก เพราะสิ่งที่ทำทั้งหมดยึดจากความเห็นของคนส่วนใหญ่ แม้กระทั่งพรรคก้าวไกล ที่ไม่ได้เข้าร่วมในการแสดงความเห็น คณะกรรมการฯ ก็ยังรับฟัง โดยมอบหมายให้อนุกรรมการไปพูดคุย หลังจากทำแบบสอบถามร่วมกันแล้ว

"ในเมื่อผลออกมาแบบนี้ เสียงส่วนใหญ่ ไปมัดมือชกตรงไหน ขณะที่เราเองก็ไม่ได้ทิ้งความเห็นที่ต่าง ได้บันทึกข้อตกลงไปในการประชุมทั้งหมด ขอยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่าง เป็นไปตามกระบวนการ" นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม กล่าวว่า เสียงคัดค้านที่เหมือนจะดัง เมื่ออยู่ในโซเชียล แต่มีไม่กี่คน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น โดยเฉพาะนายสมชัย ที่เห็นว่าเป็นคำถามมัดมือชกมีเหตุผลอะไร และหลักการที่ทำ ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลเองก็มีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน คือ อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขมาตรา 112 หากไม่อยากเห็นบ้านเมืองวนไปสู่จุดเดิม การแก้ไขธรรมนูญก็ต้องเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน จะต้องรายงานความคืบหน้าให้กับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรับทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ