ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า รัฐบาลได้นำเอกสารร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มาให้สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (26 ธ.ค.) เพื่อให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 105 วันตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 143 กำหนดไว้ หรือต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 เม.ย.67
โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กำชับให้จัดเตรียมห้องประชุมสำหรับให้หน่วยงานที่มาสนับสนุนข้อมูลให้คณะรัฐมนตรีชี้แจง และเมื่อถึงวันพิจารณาในวันที่ 3-5 ม.ค.67 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักประชุมก็จะทำหน้าที่ควบคุมเวลาให้เป็นไปตามที่วิป 4 ฝ่าย ตกลงกันคือ รัฐบาลได้ 20 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้ 20 ชั่วโมง
สำหรับบรรยากาศการรับเอกสารในวันนี้ สส.แต่ละคนได้ให้ทีมงานมารับเอกสารร่างงบประมาณฯ เพื่อนำกลับไปพิจารณา ประกอบด้วย หนังสือรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณคนละ 2 กล่อง ซึ่งสภาฯ ได้จัดเตรียมไว้ 425 ชุด จากที่มี สส.จำนวน 500 คน เนื่องจากว่าได้ทำแบบสอบถามไปก่อนหน้านี้ว่า สส.คนใดต้องการเป็นเล่ม หรือรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการรับเอกสารสามารถเข้ารับได้จนกว่าจะถึงวันอภิปราย
สาระเนื้อหาร่างงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 จำนวน 295,000 ล้านบาท แยกเป็น รายจ่ายประจำ 2,532,826 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 717,722 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท
โดยงบประมาณรายจ่ายงบกลาง กำหนดไว้จำนวน 606,765 ล้านบาท สำหรับรายได้ปี 2567 คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ประเภทต่างๆ ได้จำนวน 3,337,400 ล้านบาท แต่เมื่อหักการลดคืนภาษีต่างๆ จะคงเหลือรายได้สุทธิจำนวน 2,787,000 ล้านบาท และเนื่องด้วยรายจ่ายสูงกว่ารายได้ 693,000 ล้านบาท คาดว่ารัฐบาลจะมีการกู้เงินในวงเงินดังกล่าวเพิ่ม
สำหรับกระทรวงที่ได้รับการจัดงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.กระทรวงมหาดไทย 325,245 ล้านบาท 2.กระทรวงศึกษาธิการ 327,374 ล้านบาท 3.กระทรวงการคลัง 285,154 ล้านบาท 4.กระทรวงกลาโหม 194,498 ล้านบาท และ 5.กระทรวงคมนาคม 180,312 ล้านบาท
ส่วนกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย 1.กระทรวงพลังงาน 2,700 ล้านบาท 2.กระทรวงอุตสาหกรรม 4,471 ล้านบาท 3.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,295 ล้านบาท 4.กระทรวงพาณิชย์ 6,443 ล้านบาท และ 5.กระทรวงวัฒนธรรม 6,735 ล้านบาท