"งบ 3.48 ล้านล้านบาท รัฐบาลมีเวลาใช้เงินแค่ 5 เดือน จากปกติ 12 เดือน หรือใช้งบประมาณได้เพียง 40% ที่สำคัญประสิทธิภาพการใช้ โดยเฉพาะงบลงทุน มีแค่ 70 % ไม่สามารถไปกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลคาดหวังได้" นายจุรินทร์ กล่าว
พร้อมระบุว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีสั่งรื้อให้ทำร่างงบประมาณใหม่ แต่สุดท้ายกลับไม่มีอะไรใหม่ และหลายเรื่องแย่กว่าเดิม ใน 4 ประเด็น คือ
1. งบประมาณฉบับนี้ ขาดดุลเหมือนเดิม และจะขาดดุลต่อไปตลอดอายุรัฐบาลนี้ 4 ปีเต็ม ซึ่งอยู่ในแผนการคลังของรัฐบาลชุดนี้ ที่มีมติ ครม.ไว้เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 ว่าจะทำงบประมาณแบบขาดดุล ต่อเนื่องจนหมดอายุรัฐบาล
2. งบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนงบลงทุน ที่เป็นหัวใจของการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับน้อยกว่าเดิม โดยสัดส่วนงบลงทุน ปี 66 อยู่ที่ 21.7% แต่ปี 67 อยู่ที่ 20.6% โดยในงบปี 67 แม้จะจัดสรรงบเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาท ไปอยู่ในงบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท แต่ไปเพิ่มงบลงทุนเพียง 2.8 หมื่นล้านบาท แล้วจะไปแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลตั้งใจได้อย่างไร
3. งบกลางปี 66 อยู่ที่ 18.5% แต่ในปี 67 ลดเหลือ 17.4% แต่เมื่อดูในรายละเอียด ในส่วนของงบประมาณเพื่อสำรองจ่าย ในกรณีฉุกเฉินที่เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีกลับเพิ่มขึ้น โดยในปี 66 ตั้งงบไว้ 92,400 ล้านบาท แต่ในปี 67 กลับเพิ่มขึ้น 98,500 ล้านบาท เกือบ 1 แสนล้านบาท ถือว่า "ว่าแต่เขา อิเหนาทำหมด"
4. งบประมาณฉบับนี้ จาก "คิดใหญ่ ทำเป็น" กลับมาเป็น "คิดกู้ ทำกู้" เพราะงบประมาณสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งกู้ไว้ 5.93 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลนี้กลับกู้เป็น 6.93 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยตั้งคำถามว่า รัฐบาลตั้งงบไว้ตรงไหน แต่คงไม่มี เพราะรัฐบาลบอกว่าจะกู้ แต่หากกู้ไม่ได้ จะทำอย่างไร และสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ คือ รัฐบาลต้องทำให้ได้ เพราะไปหาเสียงไว้แล้ว ซึ่งตนจะทำหน้าที่ทวงถามเรื่องนี้แทนประชาชน
"รัฐบาลกลับลำ จากที่เคยบอกว่า ไม่กู้ กลายเป็นกู้ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่า เป็นการกู้มาจากแจกเพื่อสนองนโยบายพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศเป็นห่วง" นายจุรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลได้นำเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ไปถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฏีกาว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งหากกฤษฏีกาตอบว่า ทำไม่ได้ ผิดกฏหมาย หรือสุ่มเสี่ยง ก็อย่าไปโยนบาปให้กฤษฏีกา เพราะกฤษฏีกาไม่ใช่เจ้าของนโยบายที่หาเสียงไว้ และเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องเตรียมแผนสองไว้ หากกู้ไม่ได้ แต่หากทำได้ นายกรัฐมนตรีเคยประกาศไว้ว่า ตั้งงบใช้หนี้เอง 4 ปี แต่จะใช้หนี้อย่างไร เพราะงบ 67 ไม่มีงบใช้หนี้ดิจิทัล วอลเล็ต นั้นหมายว่า รัฐบาลมีเวลาใช้หนี้เพียง 3 ปี งบประมาณเท่านั้น
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ศักยภาพรัฐบาลใช้หนี้ได้ปีนึง 120,000 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย และการใช้หนี้ปีละ 120,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ใช้หนี้ดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้น แต่ยังมีภาระชำระหนี้สะสมที่รัฐบาลเก่า ๆ สร้างไว้อีก 9.8 ล้านล้านบาท
"ผมฟันธงเลย เพราะฉะนั้นที่ท่านนายกฯ บอกว่าจะใช้หนี้ดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน ภายใน 4 ปีโดยรัฐบาลนี้ เป็นแค่วาทกรรม สร้างความชอบธรรมให้นโยบายหาเสียง" นายจุรินทร์กล่าว
ส่วนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนั้น ฝากให้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย เพื่อจะได้รับค่าแรงขั้นสูงแบบก้าวกระโดด ซึ่งตนพร้อมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ ในส่วนงบประมาณของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 1,729.8 ล้านบาท ที่มีการพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีผลิตภาพสูง รองรับความต้องการตลาดแรงงานสมัยใหม่
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เห็นด้วยว่ารัฐบาลควรจะทำเรื่องการเมืองควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และเห็นด้วยที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่แตะหมวด 1 กับหมวด 2 และสนับสนุนที่รัฐบาลประกาศนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ปรากฏว่า กลับถอยเวลาจากนโยบายเร่งด่วนกลายเป็นภายใน 4 ปี จากหนังสั้นกลายเป็นหนังยาว และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือรัฐบาลประกาศว่าจะทำประชามติเร็วสุด ไม่เกินเดือนม.ค.67 หรือภายในม.ค.67 แต่ขณะที่รัฐบาลประกาศจะทำประชามติ คาดว่าเร็วสุดภายในเดือนม.ค. แต่รัฐบาลก็ออกข่าวว่าจะแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อแก้ประเด็นของที่มาการออกเสียงประชามติ
"จะทำประชามติในเดือนม.ค.ได้อย่างไรเหมือนที่รัฐบาลพูด จริงใจหรือจิงโจ้ และการที่รัฐบาลประกาศประชามติต้องทำทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งหนึ่งใช้งบประมาณ 3,200 ล้านบาท ถ้ารวมแล้วก็ประมาณหมื่นล้านบาท คำถามคือ งบประมาณอยู่ตรงไหน ตั้งไว้เท่าไร ผมหาไม่เจอ" นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตนได้คุยกับนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ซึ่งได้รับคำตอบว่ารถไฟฟ้าทั้งหมดมีทั้งหมด 12 สาย เปิดบริการแล้ว 8 สาย ระยะทาง 278 กิโลเมตร ประมาณ 50% ของเส้นทางทั้งหมด นโยบาย 20 บาทตลอดสายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ก็คือว่า ผู้โดยสารจ่ายครั้งเดียว 20 บาทนั่งได้ตลอดทุกสาย ทุกสี แต่วันนี้ 20 บาทกลายเป็นใช้ได้แค่ 2 สาย คือ สายสีแดง และสายสีม่วง สายสีแดง 41 กิโลเมตร สายสีม่วง 23 กิโลเมตร แค่ 23% ของเส้นทางทั้งหมดที่หาเสียงไว้
ขณะที่สายสีเขียวส่วนต่อขยาย เปิดใช้แต่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มอีก 15 บาท ประเด็นคือ สายสีม่วงกับสายสีแดงแดง ที่ 20 บาทตลอดสาย ปัจจุบันขาดทุนวันละ 7.4 ล้านบาท ปีหนึ่งตก 2,700 ล้านบาท คำถามคือเงินขาดทุนนี้ใครจะเป็นผู้จ่าย ถ้ารัฐบาลบอกว่ารัฐบาลจะเป็นผู้จ่าย สุดท้ายนโยบายนี้ก็หนีไม่พ้น "อัฐยาย ซื้อขนมยาย" ก็คือลดราคาให้ประชาชน แล้วเอาเงินประชาชนมาจ่ายให้ประชาชน
"ไม่สมราคา คิดใหญ่ทำเป็น คำถามคือ แล้ว 20 บาทตลอดสายของจริง จะได้เมื่อไหร่ จึงขอให้รัฐบาลช่วยตอบคำถามนี้ด้วย และต้องใช้เงินงบประมาณไปชดเชยหรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ เจ้าของเงินทั้งประเทศควรจะได้รับรู้" นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนงบประมาณของกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์นั้น ในส่วนกรมราชทัณฑ์ ได้งบประมาณ 14,972 ล้านบาท โดยเอาไปทำโครงการสำคัญที่สุด คือโครงการผู้ต้องขังได้รับการควบคุมดูแล ระยะเวลาทำโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ปี 65-70 ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 38,979 ล้านบาท เฉพาะงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 6,620 ล้านบาท ยอมรับว่า สนับสนุนงบประมาณก้อนนี้
แต่มีคำถาม 2 ข้อ คือ 1.รัฐบาลในฐานะผู้ใช้งบประมาณปี 2566 และกำลังของบปี 2567 อีก 6,620 ล้านบาท ได้บริหารโครงการตามวัตถุประสงค์โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ กับผู้ต้องขังทั้ง 280,000 คนหรือไม่
"มีข้อเคลือบแคลงเกิดขึ้นในสังคมว่า ทำไมรัฐบาลปล่อยให้นักโทษบางคนเข้าคุกทิพย์มาแล้วกว่า 120 วัน แต่ไม่เคยติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ผมไม่ประสงค์จะเอ่ยชื่อบุคคลใด ขอให้สบายใจได้ ผมเคารพกติกาเสมอ" นายจุรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ การใช้งบประมาณของราชทัณฑ์ ไปออกระเบียบ 6/12/66 หรือระเบียบที่ว่าด้วยการคุมขังในสถานคุมขัง พ.ศ. 2566 เรื่องนี้ตนมองว่า การใช้งบอาจจะส่อไปในทางมิชอบหรือไม่ วันหน้าจะมีคำตอบเอง นอกจากนี้ เมื่อออกระเบียบมา กลายเป็นระเบียบศรีธนญชัย แทนที่จะแยกผู้ต้องขังที่เป็นผู้บริสุทธิ์ออกจากนักโทษเด็ดขาด กลับกลายเป็นการแยกผู้ต้องขังเด็ดขาดออกเป็น 2 มาตรฐาน คือ มาตรฐานที่ 1 ติดคุกที่เรือนจำ มาตรฐานที่ 2 ติดคุกที่บ้านได้
"ศาลพิพากษาจำคุก กรมราชทัณฑ์สั่งให้นักโทษบางคนไปติดคุกเสวยสุขที่บ้านได้ กลายเป็นนักโทษเทวดา สิ่งนี้ คือประเด็น ผมพูดมาทั้งหมดเพื่อที่จะเรียนว่าทั้งนายกรัฐมนตรี รมว.ยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามแผนงานโครงการ 6 ปีงบ 38,900 ล้านบาท และให้เป็นไปตามมาตรฐานสหประชาชาติโดยเคร่งครัด ถือหลักโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เยาะเย้ย ย่ำยี หลักนิติธรรมของประเทศต่อไป เพราะจะอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว น้ำผึ้งหยดเดียวที่ไม่เพียงแต่จะทำฝันจะอยู่ 4 ปีของนายกฯ ให้กลายเป็นฝันทิพย์เท่านั้น แต่จะเป็นการยิ่งตอกย้ำฉายา เซลล์แมนสแตนอิน ให้กลายเป็นผลงานชิ้นโบดำประทับติดตัวนายกรัฐมนตรีตลอดไป" นายจุรินทร์ กล่าว
ในระหว่างที่นายจุรินทร์ อภิปรายว่า ทำไมรัฐบาลปล่อยให้นักโทษบางคนเข้าคุกทิพย์กว่า 120 วัน แต่ไม่เคยเข้าคุกจริงแม้แต่วันเดียว ทำให้นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่ากำลังอภิปรายออกนอกประเด็น และรู้ว่าคนที่กำลังพูดถึง คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และไม่ควรเอาเรื่องนอกสภามาอภิปรายในสภา อย่างไรก็ตามทางประธานสภาฯ ได้วินิจฉัยว่า นายจุรินทร์ ยังอภิปรายอยู่ในประเด็น แต่ขอให้หลีกเลี่ยงบุคคลภายนอก