น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ว่า จากที่ได้ตรวจสอบเอกสารงบประมาณทั้งหมดแล้ว ทำให้เกิดคำถามในใจว่า "วิกฤตเศรษฐกิจแบบใด? ทำไมงบไม่เหมือนมีวิกฤต" ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ออกมาพูดหลายครั้ง ซึ่งจากตัวเลขประมาณเศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัว 2.5% และปี 67 ขยายตัว 3.2% อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ แต่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งดูอย่างไรก็ไม่ใช่ภาวะวิกฤต
ทั้งนี้ หากประเทศเกิดวิกฤตจริง การจัดทำงบประมาณจะต้องขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว และเมื่อดูแผนการคลังระยะปานกลาง ที่กำหนดระดับขาดดุลไว้ที่ 3.4% เท่ากันทุกปีจนถึงปี 2570 แต่ยังไม่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทั้งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 1 แสนล้านบาท ก็ปรับลดวงเงินเหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท
"วิกฤตแบบใด ทำไมงบกลาโหมเพิ่ม ทุกๆ ครั้งที่เกิดวิกฤต กระทรวงกลาโหมจะเสียสละเพื่อประเทศ ตัดลดงบประมาณของตัวเอง เช่น ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งลดลง 21% ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ลดลง 10% ช่วงโควิดลดลง 5% แต่วิกฤตที่นายกฯ เศรษฐา บอกครั้งนี้ กลาโหมกลับได้เพิ่ม 2%" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า การจัดสรรงบประมาณปี 67 ยังคงเป็นไปตาม 6 ยุทธศาสตร์เดิม เมื่อลงไปดูรายละเอียดพบว่าเป็น 68 แผนงานที่เพิ่ม 2 แผนใหม่ และเป็น 236 โครงการใหม่จาก 15,000 โครงการ ใช้งบประมาณ 13,656 ล้านบาท จากงบทั้งหมด 831,000 ล้านบาท
"คิดว่าถ้ารัฐบาลจะฝากความหวังทั้งหมดไว้กับ พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ เหมือนเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว มีความเสี่ยงสูงมาก หากไม่สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามรื้องบปี 67 ถึง 2 รอบ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ง่าย เพราะมีแผนซ้อนแผน ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของตนเองได้ง่าย และยังมีมรดกของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาที่ไม่ยอมปฏิรูปงบประมาณ ทำให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณของตนเองได้ไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะติดประเด็นรายจ่ายบุคลากร, ชำระหนี้ 4 หมื่นล้านบาท, เงินชดใช้เงินคงคลัง 1.1 แสนล้านบาท, งบผูกพัน 3.6 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นเป็นผู้ดาวน์ แล้วให้รัฐบาลนายเศรษฐาผ่อนต่อ
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณ ยังมีข้อผิดพลาด คือ เงินเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 1.2 แสนล้านบาท เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาถูกนำมาใช้เพื่อจ่ายในส่วนของรายจ่ายบุคลากร เช่น เงินเดือน บุคลากร บำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ในปี 67 พบว่ารัฐบาลปัจจุบันกำลังจะทำผิดพลาดซ้ำรอย เช่น เงินบุคลากรที่ควรตั้งไว้ 3.6 แสนล้านบาท กลับตั้งไว้ 3.3 แสนล้านบาท เงินบำนาญ 6,000 ล้านบาทที่ไม่ตั้งไว้ ซึ่งตนสงสัยในความผิดพลาดดังกล่าวว่าเป็นเพราะความตั้งใจหรือไม่
"เคยถามกรมบัญชีกลาง ขอไปเพียงพอจะจ่าย แต่การจัดสรรไม่เพียงพอ ถือเป็นความตั้งใจที่ตั้งขาด เพื่อหาเงินชดเชยภายหลัง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ซ้ำๆ โดยไม่ตั้งงบประมาณที่เพียงพอ ซอฟท์พาวเวอร์ 5,000 ล้านบาท ไม่พบการตั้งไว้ คงต้องควักจากงบกลาง รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่ไม่ตั้งชดเชยไว้ สงสัยต้องดึงจากงบกลาง ทั้งนี้ งบกลางตั้งไว้ 9.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาแล้ว เชื่อว่าจะไม่เพียงพอ ซึ่งการตั้งงบขาด ไม่มั่นใจว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือไม่" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
สำหรับประมาณการรายได้ เชื่อว่าจะคาดการณ์ผิดพลาด และจัดเก็บไม่ได้ตรงตามเป้าหมาย เพราะนายเศรษฐา เคยระบุว่าจะไม่เก็บภาษีขายหุ้น ดังนั้นคำถามคือ รายได้จากส่วนดังกล่าวที่กำหนดไว้ 1.4 หมื่นล้านบาท จะหามาจากที่ไหน
"ดิฉันไม่มีปัญหากับสิ่งที่รัฐบาลทำ แต่เชื่อว่าจะกระทบต่อรายได้รัฐที่อาจจะหายไป 1 แสนล้านบาท หากรัฐบาลฝากความหวังไว้ที่โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรผิดพลาด ดังนั้นขอให้พูดความจริงกับสภาฯ และประชาชน" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะ มีประเด็นต้องกังวล คือ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี เพราะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าประมาณการจากกรอบการคลัง ซึ่งภาระดอกเบี้ยต้องเบียดบังงบประมาณแต่ละปี และหนี้ที่จะเกิดขึ้นไม่รวมกับหนี้ดิจิทัลวอลเล็ต และหนี้ที่ยืมจากรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐ 1 ล้านล้านบาท เวลาที่รัฐบาลบริหารงานมา 3 เดือนใช้เต็มเพดานแล้ว ซึ่งตนประเมินว่ารัฐบาลไม่เป็นมืออาชีพ จากที่เคยมีชื่อเสียงว่าเป็นรัฐบาลที่หาเงินเป็น และมุ่งใช้กลไกนอกงบประมาณโดยไม่สนใจกับภาระทางการคลัง ดังนั้นจึงมองว่าประชาชนอาจต้อง "คิดใหม่" กับฝีมือการบริหารแผ่นดินของพรรคเพื่อไทย