ก้าวไกล ถามรัฐบาลจัดงบแบบใด ยกเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่งบประมาณไม่สอดคล้อง มองปัญหา PM 2.5 ต้องแก้ทั้งโครงสร้างด้วยโมเดลตึก 5 ชั้น
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงประเด็นที่รัฐบาลยกให้เป็นวาระแห่งชาติ คือ เรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) แต่เมื่อดูงบประมาณปี 67 กลับไม่สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหามากพอ และไม่เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวจากรัฐบาล โดยตนมองว่าปัญหาเรื่อง PM 2.5 จะต้องแก้ทั้งโครงสร้าง ด้วยโมเดลตึก 5 ชั้น คือ
พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไปทั้งหมด 4 ร่าง โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าชั้นฐานรากนี้ สามารถดำเนินการผ่านกลไกสภาฯ ได้ แต่ชั้นที่เหลือต้องขึ้นกับฝ่ายบริหารด้วย
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังเนื่องจากงบประมาณสาธารณสุขทั้งเล่ม มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 เพียงแค่ผิวเผิน มีแผนงานยุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม 298.3 ล้านบาท โดย 292 ล้านบาท เป็นการยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาล Green and Clean ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 เหลืออีก 6.2 ล้านบาท ของกรมอนามัย โดยกรมอนามัยตั้งเป้าหมายว่าปี 67 จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 5% โดยมี 2.8 ล้านบาท ที่เป็นโครงการลดผลกระทบด้านสุขภาพ
"2.8 ล้านบาท เทียบเท่าโครงการเครื่องวัดระดับ PM 2.5 เครื่องเดียวที่ จ.สระบุรี ซึ่งโครงการที่มีงบน้อยแบบนี้ มีเป้าหมายโครงการ คือ 85% ของชาวไทยต้องได้รับการปกป้องจากการรับสัมผัส PM 2.5 แล้วประชาชนได้รับอะไรจากโครงการนี้ กับวิกฤตที่กระทบสุขภาพ จัดงบได้เพียงเท่านี้หรือ" นายภัทรพงษ์ กล่าว
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า จากสถิติพบว่าในปี 56-60 โรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 คือ โรคมะเร็งปอด ขณะที่ประชากรที่สูบบุหรี่ในไทยภาคเหนือมีน้อยสุด อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ไม่ได้กระทบกับแค่ภาคเหนือเท่านั้น ในปี 66 มีอัตราผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจถึง 6.82 ล้านคน
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า ผลการศึกษากรรมาธิการ การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างเป็นระบบ คือ รัฐบาลต้องมีมาตรการอย่างเป็นระบบ ลดการเผา และเพิ่มแรงจูงใจแก่เกษตรกร จากงบประมาณปี 67 คือ ลดการเผา ทำปุ๋ยหมักในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ 15.12 ล้านบาท เป้าหมายคือลดการเผาในพื้นที่การเกษตร 241,000 ไร่ โดยครม. มีเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่ด้านการเกษตร 50% แต่จากข้อมูลของ GISDA ในปี 66 พบว่า มีพื้นที่เกษตรที่มีการเผาไหม้ใน 9 จังหวัดภาคเหนือรวม 237,867 ไร่
"รัฐบาลตั้งเป้าลดการเผา 50% แต่ตั้งงบให้ 10% เท่านั้น และโครงการอื่นๆ ที่เป็นลักษณะนี้ก็ไม่มีแล้ว รัฐอาจบอกว่ามีโครงการส่งเสริมเกษตรกรไม่เผา 9.7 ล้านบาท มีโครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืชอีก 7 ล้านบาท แต่ 2 โครงการนี้เหมือนงบปี 66 และ 3 ใน 4 ของงบทั้งหมดเป็นการอบรม นอกจากนี้ มติครม. ยังให้กระทรวงเกษตรฯ จัดทำระบบการติดตามย้อนกลับ ว่าสินค้าเกษตรมีการเผาไหม้หรือไม่ งบเพียง 4.5 ล้านบาทเท่านั้น" นายภัทรพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้ จากผลการศึกษากรรมาธิการ ยังมีข้อศึกษาชัดเจนว่า ธ.ก.ส. ต้องมีมาตรการการลดการเผาให้เกษตรกรที่ชัดเจน ซึ่งมีงบตรงจุด 442 ล้านบาท แต่ในรายละเอียดเป็นการนำเงินในปัจจุบันไปจ่ายให้อดีต จ่ายให้เกษตรกรไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการในปี 63-64 ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม มีเครื่องสางใบอ้อย ลดการเผา 2.6 ล้านบาท และมีการทำชีวมวลจากอ้อย 8.6 ล้านบาท แต่ในปี 66 ยังมีรายงานการลักลอบเผาอ้อย 10 ล้านตัน
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการเผาไหม้มากที่สุดในประเทศ คือ นาข้าว กระทรวงเกษตรฯ มีงบประมาณ 3.45 ล้านบาท ในการทำแปลงข้าวต้นแบบไม่เผาที่สุพรรณบุรี 40 ไร่ ซึ่งไทยเจอปัญหานี้มาหลายปี แต่ยังอยู่ในกระบวนการทำต้นแบบอยู่
ส่วนข้าวโพดอาหารสัตว์ ไม่มีงบประมาณในส่วนนี้เลย ดังนั้น เสนอแนะให้ปรับงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้, จัดบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้เกษตรกรลดการเผา, ปลูกพืชทดแทนข้าวโพดอาหารสัตว์ในพื้นที่สูง, ส่งเสริมงบประมาณการรับซื้อเศษวัสดุการเกษตร, การแก้ไขประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นต้นตอฝุ่นพิษ, ส่งเสริมงบให้เกษตรกรเข้าร่วมมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการเผาสินค้าการเกษตรมากขึ้น และสนับสนุนทรัพยากรให้เจ้าหน้าที่ตรวจด้วยความถี่ที่เหมาะสม
"นายกฯ ลงพื้นที่ไปมอบนโยบายให้กรมต่างๆ ในกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง PM 2.5 แต่คำสั่งไปอย่างเดียว แต่ไม่มีงบ วิกฤตแบบไหน จัดงบประมาณแบบนี้" นายภัทรพงษ์ กล่าว
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า งบประมาณด้านไฟป่าเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่มีข้อมูล เช่น มีข้อมูลพฤติกรรมการเผาไหม้ในพื้นที่ 9 จังหวัดในภาคเหนือตอนบน มีข้อมูลการเผาไหม้สะสมของภาคเหนือจาก GISDA แต่กลับไม่มีแพลนที่จริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งงบที่เป็นกังวลมากที่สุด คืออุปกรณ์การดับไฟป่าให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร งบจัดซื้อโดรนตรวจจับความร้อน โดยงบ 80.8 ล้านบาท ในการจุดเฝ้าระวังไฟป่า 1,000 จุดในพื้นที่กรมอุทยาน ยังไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ สิ่งที่ผิดหวังมากที่สุด คือ งบยังกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ยังไม่กระจายไปท้องถิ่น ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นของบจัดการไฟป่าที่ 1,709 ล้านบาท แต่ได้จริงเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น
"นายกฯ จะปล่อยให้นักการเมืองท้องถิ่นต้องควักกระเป๋าเอง จัดทอดผ้าป่า ขายบัตรรำวง เอาเงินมาดับไฟป่าให้พวกเราหรือ ขอให้นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้ท้องถิ่นได้ ขอมา 1,709 ล้านบาท ทำไมให้ได้แค่ 50 ล้านบาท" นายภัทรพงษ์ กล่าว
เรื่องการพยากรณ์ฝุ่น การจะพยากรณ์ PM 2.5 อย่างแม่นยำ จำเป็นต้องมีเครื่องวัดระดับค่าชั้นบรรยากาศ PBL ซึ่งเห็นงบประมาณปี 67 ส่วนนี้จำนวน 19 ล้านบาท แต่จัดทำแค่ในกทม. เท่านั้น และเป็นโครงการที่มีงบผูกพันถึงปี 68 รวม 127 ล้านบาท แต่สุดท้ายได้เพียง 3 พื้นที่ คือ สงขลา เชียงใหม่ และกทม. ดังนั้น มองว่างบที่เสียไปมาก ไม่สอดคล้องกับปริมาณที่จะได้รับ
ส่วนการแจ้งเตือน งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแจ้งเตือนผ่านสัญญาณโทรศัพท์ แต่ยังไม่เห็นงบของส่วนกลาง ดังนั้น เสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้งบประมาณ Universal Service Obligation (USO) จัดทำส่วนกลาง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ Cell Broadcast ในปี 68
นอกจากนี้ เสนอแนะให้มีการใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียม ประเมินปริมาณใบไม้ร่วง ประเมินเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า เพื่อให้สามารถจัดทำแนวกันไฟได้ตรงจุด และเซนเซอร์ป้องกันไฟป่า เพื่อสามารถแจ้งเตือนให้คนท้องถิ่นจัดการได้
"ถามนายกฯ ในการประชุมครม. ยังไม่เห็นมาตรการการแจ้งเตือนว่า ปีนี้จะแจ้งเตือนประชาชนในประเด็น PM 2.5 อย่างไร ตั้งเกณฑ์คุณภาพอากาศไว้ที่เท่าไร" นายภัทรพงษ์ กล่าว
กระทรวงการต่างประเทศ มีหมุดหมายที่ 11 ลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 797.54 ล้านบาท ซึ่งไม่มีรายละเอียด มีแต่ตัวชี้วัดลอยๆ 2 ข้อเท่านั้น และจากที่ประชุม ครม. ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ตามกลยุทธ์ฟ้าใส อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์นี้มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว แต่ยังไม่เห็นผลความคืบหน้า
"หวังว่า รัฐบาลจะนำสิ่งที่เสนอแนะไปพิจารณาแก้ไขจริงๆ เพราะถ้าจัดงบกันแบบนี้ เรามีทางออกเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ คือต้องจุดธูป 16 ดอก ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภาวนาให้ภัยธรรมชาติเบาบางลงไปเอง ธูปเทียนเท่านั้น ถ้าธรรมชาติปราณี ประชาชนก็พ้นภัย แล้วก็ต้องไปสวดมนต์อ้อนวอน ขอให้นายทุนเลิกนำเข้าสินค้าที่มาจากการเผาอีก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า มาถึงวันนี้รัฐยังไม่มีมาตรการในการซื้อสินค้าเกษตรที่มีจากการเผาให้กับประเทศไทยเลย และเพียงอีกไม่กี่สัปดาห์ปัญหา PM 2.5 ในภาคเหนือจะรุนแรงขึ้นแล้ว ไม่ต้องรอให้สภาฯ ตรวจสอบ ประชาชนภาคเหนือกำลังตัดสินอยู่ และจะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด และหวังว่ารัฐบาลจะไม่สนใจปัญหาเฉพาะช่วงที่มีปัญหาเท่านั้น เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา" นายภัทรพงษ์ กล่าว