นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ชี้แจงถึงโครงการแลนด์บริดจ์ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 เป็นวันที่สองว่า โครงการนี้มีความจำเป็น พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยเสียงสะท้อนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงนักธุรกิจทุกคน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการเมกะโปรเจ็คที่มีความสำคัญโครงการหนึ่งของโลก
เนื่องจากไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีหลายประเทศสนใจเข้ามาตั้งโรงงานในไทย และไทยมีความพร้อมในเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สนามบินสุวรรณภูมิที่สร้างในสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังที่พัฒนาไปเฟส 3 แล้ว และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ไทยอยู่บนหมุดหมายของการผลิตทั่วโลกได้
ปัจจุบันปริมาณเรือที่ผ่านมาช่องแคบมะละกาเริ่มแออัดและเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ระยะเวลาที่จะผ่านช่องแคบมะละกาใช้เวลามากขึ้น อีกทั้งในอีก 10-15 ปีข้างหน้าจะมีปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น และมีการใช้เส้นทางเดินเรือเพิ่มขึ้นอีกมาก
"ช่องแคบมะละกาไม่สามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การที่เรามีแลนด์บริดจ์จะเป็นการแบ่งเบาภาระ เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยขึ้นไปอีกเยอะ" นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปริมาณน้ำมันกว่า 60% ผ่านช่องแคบมะละกา ถือเป็นสินค้าหลักที่ทั่วโลกมีความต้องการสูง และอาจทำให้ประเทศซาอุดิอาระเบียที่มีความมั่นคงด้านพลังงานอยากมาลงทุน อยากมาสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานนอกเหนือจากความมั่นคงทางอาหาร และทำให้ไทยมีความพร้อมในการยืนบนโลกที่ยังมีความขัดแย้ง สามารถพึ่งตนเองได้ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนขึ้นมาได้
ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ของไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นกลาง แม้ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ทั้งสองประเทศยังต้องค้าขาย และการที่ไทยเสนอตัวทำแลนด์บริดจ์ให้เชื่อมต่อโลกทั้งโลกเข้าด้วยกัน ทำให้จีนและสหรัฐอเมริกาสามารถใช้ไทยเป็นฐานในการขนถ่ายสินค้าได้