วุฒิสภา ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำงานคู่ขนานไปกับ กมธ.พิจารณาร่างงบประมาณปี 2567 ของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากการจัดทำงบปี 67 ล่าช้ากว่าปกติเพราะเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาล ขณะที่วุฒิสภามีเวลาในการพิจาณาค่อนข้างจำกัด
"ประธานวุฒิสภาให้ตั้ง กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ในส่วนของวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ (9 ม.ค.) จำนวน 41 คน มีทั้งจากคณะกรรมาธิการฯ จากวิป และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 5 คน และจะเริ่มประชุมตั้งแต่วันจันทร์หน้า (15 ม.ค.) คู่ขนานไปกับ กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะช่วยให้ส่วนราชการได้มาชี้แจงคู่ขนานกันไปอย่างสะดวก" พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สว.กล่าว
การดำเนินการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องกรอบเวลา เพราะวุฒิสภาจะมีเวลาในการพิจารณาน้อยเพียง 6-7 วันเท่านั้น ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณจะต้องผ่านมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงต้นสัปดาห์ของเดือนย เม.ย.67 และต้องส่งต่อให้ สว.พิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 9-10 เม.ย.67 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประมาณวันที่ 17 เม.ย.67
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้วุฒิสภาสามารถพิจารณาให้เสร็จได้ประมาณวันที่ 20 มี.ค.67 พร้อมกับ กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะเข้าสู่ขั้นตอนการแปรญัตติ เสร็จแล้วก็เสนอให้วุฒิสภาอภิปรายในวันที่ 9 เม.ย.ต่อไป เพื่อให้ได้รับข้อเท็จจริงและรู้รายละเอียดเพียงพอ
โดยภาพรวมของงบประมาณปี 2567 แม้จะมีข้อจำกัดมากแต่รัฐบาลก็ดันวงเงินไปได้ถึง 3.48 ล้านล้านบาท ขณะที่มีงบลงทุนเพียง 20% อาจไม่มากพอที่จะผลักดันประเทศให้พ้นจากปัญหา รวมถึงผลักดัน GDP ให้ขยายตัวถึง 5% ตามที่รัฐบาลมุ่งหวังด้วยงบที่จัดสรรมาอาจยังน้อยไป อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลก็ยังไม่สะท้อนออกมาในงบประมาณเท่าที่ควร ส่วนใหญ่งบทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น 9% จากปีที่ผ่านมาจึงเป็นการกระจายออกไปทั่ว ดังนั้นการผลักดันนโยบายต่างๆ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจึงต้องไปหวังพึ่งกลไกภายนอก เช่น พ.ร.บ.เงินกู้ จึงได้แต่หวังว่างบประมาณปี 68 ที่จะออกมาจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น
สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คงต้องรอรัฐบาลออกมาชี้แจงว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นอย่างไร แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ตอนที่รัฐบาลคิดนโยบายนี้อาจจะยังอยู่ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จึงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินให้ประชาชนไปใช้สอย ซึ่งหลายประเทศในโลกก็ทำ แต่ถึงวันนี้วิกฤตของเศรษฐกิจก็ยังไม่เลวร้ายนัก อัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์โลกประมาณการไว้ ดังนั้นการจะเอาเงิน 500,000 ล้านบาทไปแจกประชาชน หากปีหน้าหรือปีถัดไปเกิดขึ้นมาก็จะเป็นปัญหา จึงอยากให้รัฐบาลคิดอีกครั้งว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปหรือไม่
ส่วนกรณีที่วุฒิสภาเตรียมรวมรายชื่อยื่นญัตติขอเปิดการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญนั้น ตอนนี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และยังไม่เห็นรายละเอียดว่า สว.ส่วนใหญ่ติดใจเรื่องอะไร จึงต้องขอความชัดเจนก่อน เพราะต้องใช้รายชื่อ สว.จำนวน 84 คนลงนามเพื่อเปิดอภิปราย ซึ่งไม่ใช่น้อย ก่อนหน้านี้ตนได้พูดคุยกับเพื่อน สว.บางคนว่า รัฐบาลชุดที่แล้วทำงานมา 4 ปี ทำไม สว.ไม่เปิดอภิปรายเลย รัฐบาลชุดนี้ทำงานมา 3 เดือนกว่ากลับเปิดอภิปรายแล้วก็ต้องดูประเด็นว่าจะใช้มาตรานี้หรือไม่ ความจริงน่าจะให้สิ้นปีงบประมาณไปก่อน แต่พวกตนก็คงไปก่อนเหมือนกัน ส่วนตัวมองว่าการเปิดอภิปรายตอนนี้ยังเร็วไป