คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา (สว.) มติให้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 โดยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (9 ม.ค.) จะเริ่มรวบรวมรายชื่อ สว.ให้ได้ จำนวน 1 ใน 3 หรือจำนวน 84 คนตามที่กฎหมายกำหนด
"ที่ประชุม กมธ.ฯ มีมติให้มีการยื่นญัตติตามมาตรา 153 โดยจะมีการล่าชื่อ สว.ตั้งแต่วันพรุ่งนี้" นายเสรี กล่าวภายหลังการประชุม
ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าจะมี สว.ร่วมลงชื่อตามที่คาดหวัง แต่ยังไม่ทราบว่าจะยื่นหรือเปิดอภิปรายรัฐบาลได้เมื่อไหร่ เพราะต้องดูความพร้อมของรัฐบาลที่จะมาชี้แจงด้วย คาดว่าจังหวะเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.67 แต่ถ้าจะให้เลยไปถึงเดือน เม.ย.คงไม่ดี
ส่วนประเด็นในการอภิปรายมีหลายเรื่อง อาทิ เรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่บังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียม เป็นสองมาตรฐาน แต่ยังไม่ขอเอ่ยชื่อว่าหมายถึงใคร เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเรื่องปากท้องของรัฐบาล ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมชี้แจงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 แม้รัฐบาลจะเข้ามาบริหารประเทศได้เพียงแค่ 4 เดือน แต่การชี้แจงถือเป็นหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับเวลาว่าจะเข้ามานานกี่วันกี่เดือน
"เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ถ้าเกิดฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตรวจสอบต้องการความกระจ่างหรือต้องการให้ชี้แจง รัฐบาลก็พร้อมชี้แจง เพราะถือเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ" นายเศรษฐา กล่าว
ส่วนกรณีที่ 3 รัฐมนตรี คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ส่งผลกระทบกับการทำงานของรัฐบาล เชื่อว่าการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีจะดีขึ้น เพราะจะได้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ เรื่องนี้ไม่มีนัยยะอะไร เป็นเรื่องของการทำงานเพียงอย่างเดียว