กฤษฎีกา แจงให้ความห็นพ.ร.บ.กู้เงินตามข้อกฎหมาย ยันไม่ได้ไฟเขียว

ข่าวการเมือง Tuesday January 9, 2024 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลได้ส่งความเห็นให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า กฤษฎีกาได้ส่งความเห็นไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่จะต้องเข้าคณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่ก่อน และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด

แต่ยังไม่มีคำว่า "ไฟเขียว" ซึ่งกฤษฎีกาตอบได้เพียงข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งต้องดูว่า เงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 มีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขจะต้องเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และและต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่

"ในฐานะนักกฏหมาย คงตอบได้เพียงแค่นี้ แต่สำหรับมาตรา 53 สามารถออกเป็นกฏหมายได้ ส่วนจะเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็แล้วแต่ เพราะถือเป็นกฎหมายทั้งคู่" นายปกรณ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า กฤษฎีกาไม่ได้มีข้อเสนอแนะอะไรกลับไป เป็นเพียงการอธิบายมาตรา 53 ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งจะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ตนเป็นนักกฎหมายไม่สามารถชี้นำได้ ต้องใช้ข้อมูลตัวเลขที่เป็นตามหลักวิทยาศาสตร์

ส่วนความเห็นของกฤษฎีกาจะสามารถรับประกันได้หรือไม่ ว่ารัฐบาลจะทำอะไรที่ไม่ผิดกฎหมาย นายปกรณ์ ย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ แต่สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะเรายึดตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และ มาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฉะนั้นยืนยันว่า หากรัฐบาลทำตามแล้ว ปลอดภัยแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.ก็ปลอดภัยทั้งคู่ หากทำถูกเงื่อนไข

ส่วนกรณีที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาระบุว่า กฤษฎีกา "ไฟเขียว" พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น จะสามารถใช้คำนี้ได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า "ผมเข้าใจว่า ท่านไม่ได้ใช้คำว่า "ไฟเขียว" เพราะผมเอง ก็ไม่ใช่ตำรวจจราจร"

นายปกรณ์ มองว่า ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะเวลารัฐบาลทำอะไร ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ถูกต้อง เชื่อมั่นว่า ทุกคนยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเหมือนกัน

"ถ้าทำตามเงื่อนไข ก็ไม่มีปัญหา ส่วนการที่รัฐบาลอ้างว่า GDP โตไม่ทันนั้น คงไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจได้" เลขาธิการกฤษฎีกา ระบุ

พร้อมย้ำว่า รัฐบาลถามมาเพียงแค่คำถามเดียว คือ จะสามารถออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ได้หรือไม่ และไม่ได้ถามเพิ่มเติมกรณีมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ