นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกส่งตัวออกไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่า 120 วันนั้น ได้พิจารณาความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ม.ค.67 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที
โดยกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 โดยกรมราชทัณฑ์ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากลรวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย และตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลจำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ.2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการตำรวจ ที่มีนายชัยชนะ เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ได้ทำหนังสือขอมาศึกษาดูงานโรงพยาบาลตำรวจว่า พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ8) โรงพยาบาลตำรวจ ได้มีหนังสือตอบรับให้เข้ามาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการนำตัวผู้ต้องขังจากราชทัณฑ์ มารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ในวันศุกร์ที่ 12 ม.ค.67 แล้ว โดยจะมีการจัดห้องประชุมชั้น 6 อาคารศรียานนท์ โรงพยาบาลตำรวจให้ กมธ.ตร.
ทั้งนี้การขอมาศึกษาดูงานของ กมธ.ตร. ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็นการขอดูงานในภาพรวมเท่านั้น พร้อมย้ำว่าไม่สามารถพาขึ้นไปดูที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ซึ่งเป็นที่พักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ รวมถึงการขอดูผ่านกล้องวงจรปิดในห้องควบคุม ส่วนจะมีการให้วิดีโอพูดคุยหรือเยี่ยมคนไข้ได้หรือไม่ พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กล่าวว่า รูปแบบดังกล่าวทางโรงพยาบาลตำรวจ ไม่เคยทำเพราะเกรงจะเป็นการละเมิดสิทธิของคนไข้ โดยเฉพาะหากคนไข้ไม่อนุญาตก็ไม่สามารถทำได้ทุกกรณี
โฆษก รพ.ตำรวจ ย้ำว่าการเข้ามาศึกษาดูงานจะต้องไม่กระทบการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ ไม่กระทบสิทธิหรือละเมิดสิทธิของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ และไม่ทำความเสียหายให้โรงพยาบาลตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ