นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ยืนยันว่า รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการตามเดิม แม้จะต้องยอมรับว่าเวลาในการดำเนินโครงการจะเริ่มตึง เนื่องจากกำหนดการในเดือน พ.ค. 67 ก็ใกล้เข้ามาทุกที ขณะที่ยังมีปัจจัยภายนอก อย่างเรื่องความคิดเห็นจากทางคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ที่มี นางสาวสุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน เข้ามา
ทั้งนี้เมื่อมีความคิดเห็นต่างๆ เข้ามา รัฐบาลก็ต้องดำเนินการ จะปล่อยและไม่รับฟังก็คงทำไม่ได้ รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาสิ่งที่เป็นข้อสงสัย หรือข้อเสนอแนะมารับฟัง มาหาคำตอบ
"ตอนนี้ยอมรับว่าเวลาเริ่มตึง เพราะ พ.ค. 67 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ถูกวางไว้ก็ใกล้เข้ามาทุกที แต่ไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลยังยืนยันตามกรอบเวลาเดิม ส่วนกรณีถ้าไม่ทัน พ.ค. ก็คงต้องขยับไปเป็น มิ.ย. 67 จริงๆ ถามแบบนี้ไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงถ้ามันเป็นอย่างนั้น ไม่ทันก็คือไม่ทัน มันก็ต้องดันออกไป แต่สิ่งที่ต้องยอมรับเลยคือไม่ง่าย เพราะเวลาตึงมาก" นายจุลพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในส่วนที่มีข้อเสนอว่าหากรัฐบาลไม่สามารถออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินเพื่อใช้ในโครงการ Digital Wallet ได้ จะออกเป็น พ.ร.ก. แทนหรือไม่นั้น รมช.การคลัง กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ไม่ได้มีการหารือกันแต่อย่างใดว่าจำต้องเปลี่ยนวิธีการหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุปจากคณะกรรมการโครงการชุดใหญ่แต่อย่างใดโดยขณะนี้กระทรวงการคลังได้เดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ. กู้เงินในเบื้องต้นแล้ว
ส่วนกลไกอื่นๆ ตามหลักการแล้วก็อยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่จะทำได้ ส่วนกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะปรับลดวงเงินในโครงการ Digital Wallet เหลือ 3 แสนล้านบาท จาก 5 แสนล้านบาท และอาจจะไปใช้งบประมาณดำเนินการแทนนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และไม่เคยมีการพูดคุยกันในประเด็นนี้เลย