ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับพวกรวม 32 คน ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิด ฐานเป็นกบฎ-ก่อการร้ายฯ บุกยึดสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-5 จำเลย 7-13 และจำเลยที่ 31 ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายศิริชัย ไม้งาม, นายสำราญ รอดเพชร, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า, นายสาวิทย์ แก้วหวาน, นายสันธนะ ประยูรรัตน์, นายชนะ ผาสุกสกุล, นายรัชต์ชยุตม์ หรืออมรเทพ หรืออมร ศิริโยธินภักดี หรืออมรรัตนานนท์ และบ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งหมดกระทำความผิดฐานบุกรุกและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุดคือความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 พิพากษาให้ลงโทษปรับ คนละ 20,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นพยาน และหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิด ยกฟ้อง
ส่วนจำเลยที่เหลือ ศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด
กรณีนี้เกิดขึ้น เมื่อระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค. 51 จำเลยได้ร่วมกันโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันชุมนุมใหญ่ กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นายประพันธุ์ คูณมี หนึ่งในจำเลยในคดี กล่าวว่า คดีนี้อัยการยื่นฟ้องหลายข้อหา เช่น ข้อหาบุกรุกฯ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อหาก่อการร้ายชุมนุมโดยก่อการวุ่นวาย ข้อหาทำร้ายเจ้าพนักงาน ต่อสู้ขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นต้น
สำหรับประเด็นที่ศาลวินิจฉัย คือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 51 โดยมีจุดมุ่งหมายคือการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้การกระทำผิดเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมืองหายไป ซึ่งการชุมนุมในครั้งนั้นแม้จะเป็นพื้นที่สนามบินดอนเมือง แต่เป็นการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับการบิน ซึ่งเป็นพื้นที่เป็นที่ตั้งร้านค้าประชาชนสามารถเข้าใช้ได้เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการชมนุมไม่มีการทำร้ายผู้โดยสารรวมถึงพนักงานสายการบิน รวมถึงการชุมนุมดังกล่าวไม่มีการพกอาวุธก่อจราจลวุ่นวาย ถึงแม้จะเกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติของการชุมนุม
ดังนั้น ศาลจึงมองว่าการชุมนุมโดยรวมทั้งหมด เป็นไปด้วยความสงบปราศจากอาวุธอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความผิดในฐานก่อการร้ายรวมถึงข้อหาอื่นๆ ซึ่งข้อหาก่อการร้ายที่ยกฟ้องนั้นเนื่องจากการชุมนุมนั้นไม่มีการใช้อาวุธทำลาย ระบบคมนาคมขนส่งหรืออากาศยาน จึงถือว่าไม่เข้าข่ายความผิด
ในส่วนข้อหาบุกรุกซึ่งสถานที่ดังกล่าวที่มีการใช้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นการชั่วคราวของรัฐบาลขณะนั้น ซึ่งช่วงที่พันธมิตรเคลื่อนขบวนเข้าไป ได้มีเข้าไปในห้องประชุมที่ใช้ในการประชุมจริง ศาลมองว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จึงเข้าข่ายความผิดฐานบุกรุก และขณะนั้นเป็นช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวกันผิดกฎหมายหลายบทศาลจึงลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน