ศาลรัฐธรรมนูญแถลงว่าตุลาการฯ มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง คือ วันที่ 3 มี.ค.66 เนื่องจากพบพิรุธน่าสงสัยหลายประการว่าการโอนหุ้นห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตัคชั่น เป็นนิติกรรมอำพราง
ส่วนสียงข้างน้อย คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และมีตุลาการลาป่วย 1 คน คือ นายวิรุฬห์ แสงเทียน
"จากข้อพิรุธหลายรายการ ประกอบกับพฤติการณ์แวดล้อมแห่งคดี จึงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) และ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตกลงนำเงินของผู้ถูกร้องทำธุรกรรมต่าง ๆ ในนามของนายศุภวัฒน์ โดยขั้นตอนสุดท้าย ซื้อกองทุน และขายกองทุน ชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้ถูกร้อง จำนวน 119 ล้านบาท เงินเป็นของผู้ถูกร้อง ดังนั้น ผู้ถูกร้องยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีนายศุภวัฒน์เป็นผู้ครอบครองหุ้นและห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทบุรีเจริญคอนสตรัทชั่น แทนผู้ถูกร้องมาโดยตลอด"ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำพิพากษา
ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า นายศักดิ์สยาม เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 10 ก.ค.62 ก่อนหน้านั้นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการใน บุรีเจริญฯ ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.58 และในปีเดียวกันเป็นหุ้นส่วนใน ศิลาชัยฯ ต่อมานายศักดิ์สยามเตรียมจะลงสมัคร สส. จึงตกลงโอนหุ้น บุรีเจริญฯ ให้แก่นายศุภวัฒน์ ซึ่งโอนจ่ายค่าหุ้นให้นายศักดิ์สยาม รวม 3 งวด 119.5 ล้านบาท ซึ่งนายศุภวัฒน์อ้างว่านำเงินมาจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุน
แต่พบว่าเงินที่ใช้ซื้อกองทุนเมื่อ วันที่ 29 ธ.ค.60 จำนวน 56 ล้านบาทเชื่อว่ามาจากบัญชีธนาคารของศิลาชัยฯ และบุรีเจริญฯ ซึ่งในช่วงนั้นนายศักดิ์สยามยังมีอำนาจใช้จ่ายเงินในนิติบุคคลทั้งสองแห่ง ประกอบกับคำเบิกความผู้ถูกร้องจัดซื้อเครื่องบิน 12 ล้านบาท ในปี 60 แม้บริษัทขาดสภาพคล่อง แต่นายศักดิ์สยามใช้อำนาจจัดซื้อเครื่องบิน เพื่อประโยชน์กิจกรรมทางการเมือง
ส่วนข้อกล่าวอ้างว่า ศิลาชัยฯ ได้รับความเสียหายจากการทุจริตทำให้ขาดสภาพคล่อง จึงต้องกู้ยืมเงินนายศุภวัฒน์ แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏค่าเสียหายไม่สอดคล้องกับยอดเงินตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่าง บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ กับนายศุภวัฒน์ ในปี 59 ซึ่งมีเงินกู้ยืมมากถึง 137 ล้านบาท อีกทั้ง ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในรายการเคลื่อนไหวของบัญชีธนาคารของศิลาชัยฯระหว่างปี 58-60 มีเงินสะสมในบัญชีหลาย 10 ล้านบาท และยังมีการจัดซื้อเครื่องบินตามความต้องการของนายศักดิ์สยาม
การที่นายศุภวัฒน์ กล่าวอ้างว่า มีรายได้จากการประกอบอาชีพรับจ้าง จัดหาเครื่องจักร อะไหล่ ซ่อมบำรุงเครื่องจักร ของทั้งสองบริษัทตั้งแต่ปี 38 และมีรายได้ต่อเดือน 20 ล้านบาทนั้น จากเอกสารแสดงรายได้บุคคลธรรมดาปรากฏข้อเท็จจริง ในปี 56-65 มีรายได้เฉลี่ยต่อปีไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี และไม่ปรากฏพยานหลักฐานประกอบธุรกิจ และไม่ปรากฏรายการทรัพย์สิน ประกอบธุรกิจ เช่น สัญญา ข้อตกลงผู้รับจ้าง ใบเสร็จรับเงิน ใบวางบิล เป็นต้น
ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า นายศักดิ์สยาม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วน และยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของ บุรีเจริญฯ อย่างแท้จริง โดยพบข้อพิรุธหลายอย่าง รวมถึงการที่นายศุภวัฒน์นำใบเสร็จค่าน้ำมันไปเบิกกับบุรีเจริญฯ ซึ่งพบว่าเป็นค่าน้ำมันของรถยนต์ส่วนตัว 2 คันของนายศักดิ์สยาม และอีกส่วนหนึ่งนายศุภวัฒน์ ระบุภารกิจ "ตามนาย"
กรณีที่นายศุภวัฒน์ บริจาคเงินส่วนตัวให้แก่พรรคภูมิใจไทยที่มีนายศักดิ์สยามเป็นเลขาธิการพรรคหลังจากเข้ามารับโอนหุ้นในบุรีเจริญฯ รวมกว่า 20 ล้านบาทเป็นช่วงระยะเวลาภายหลังที่นายศักดิ์สยาม โอนหุ้นบุรีเจริญฯ ให้กับนายศุภวัฒน์ ในปี 2561 และไม่ปรากฏว่าช่วงเวลาก่อนการโอนหุ้น นายศุภวัฒน์และบุรีเจริญฯ เคยบริจาคเงินให้แก่พรรคภูมิใจไทย หรือมีความเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทยมาก่อน
จากข้อพิรุธหลายประการ ประกอบพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวง จึงฟังได้ว่า นายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ เกษมสุข ตกลงนำเงินของนายศักดิ์สยาม ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในนามนายศุภวัฒน์ และนายศักดิ์สยาม ยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในบุรีเจริญฯ โดยมีนายศุภวัฒน์ ครอบครองและดูแลกิจการแทนนายศักดิ์สยาม มาโดยตลอด จึงเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรีอยู่ในความครอบครอง หรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางใด ๆ เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้าม ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัว