นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอความเห็นส่วนตัวกรณีทำไมหุ้นบมจ.ไอทีวี (ITV) ยังเป็นหุ้นสื่อและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล อาจขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม โดยยึดแนวทางคำวิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แนวทางคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้
1. ITV ยังเป็นสื่อมวลชน โดยมีสถานะความเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีวัตถุประสงค์จดแจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกี่ยวกับสื่อรวม 5 ข้อ เช่น รับบริหารและดำเนินกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกและโทรภาพทางสาย (เคเบิลทีวี) เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ บริการประชาสัมพันธ์และจัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์ โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกและโทรภาพทางสาย (เคเบิลทีวี) แพร่ภาพโทรทัศน์ ผลิตรายการ ประชาสัมพันธ์ รับจ้างผลิตสื่อ ฯลฯ
ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ITV ยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทหรือจดยกเลิกวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนทั้ง 5 ข้อดังกล่าว
"นายพิธา น่าจะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม สอดรับกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในคดีการถือหุ้นบริษัท วีลัคมีเดีย ที่อ้างว่าปิดกิจการแล้ว แต่ไม่จดทะเบียนยกเลิกบริษัท ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ยังสามารถประกอบกิจการสื่อมวลชนได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ไม่ได้จดเลิกบริษัท
เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาในทำนองเดียวกับผู้สมัครเลือกตั้ง สส.ทั้ง 4 ราย ที่ไม่ได้จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสื่อขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามเช่นกัน
2. ITV ชนะคดีเบื้องต้นแล้ว 2 ยก รัฐต้องคืนคลื่นความถี่และชดใช้ค่าเสียหาย โดย ITV ที่ได้ถูกปิดสถานีและยึดคลื่นคืน เพราะไม่ชำระหนี้ค่าสัมปทานแก่รัฐเมื่อ 17 ปีก่อน ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างว่ารัฐให้สัมปทานกับบุคคลอื่นเป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบต่อฐานะการเงินอย่างรุนแรง จึงขอให้สำนักปลัดสำนักนายกฯ ชดเชยความเสียหายตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ ITV ชนะ ได้รับเงินเยียวยาและคืนคลื่นความถี่
โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) นำคดีสู่ศาลปกครองกลาง แต่ศาลพิพากษายกคำร้อง และสปน. ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ แต่ปัจจุบัน ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำพิพากษาในคดีนี้
"นายพิธา น่าจะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม เพราะคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองกลางให้ ITV เป็นผู้ชนะคดี ได้รับการเยียวยา และคืนสัมปทานคลื่นความถี่โทรทัศน์ ITV จึงอยู่ในฐานะที่พร้อมประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ได้" นายเสรี ระบุ
3. แม้ ITV ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว แต่ยังมีบริษัทลูกประกอบกิจการสื่อและมีรายรับจากบริษัท อาร์ตแวร์มีเดีย ที่ ITV เป็นผู้ถือหุ้น 99% โดยมีผลประกอบกิจการจดทะเบียนทำสื่อโฆษณา รายการ ให้เช่าเครื่องมือ ลิขสิทธิ์ แลอื่นๆ ฯลฯ ที่ถือได้ว่าเป็นธุรกิจสื่อมวลชน
"นายพิธา น่าจะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม สอดรับกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล พ้นจาก สส.ด้วยเหตุถือหุ้นสื่อในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด" นายเสรี ระบุ
4. แม้จะมีข้ออ้างว่านายพิธาถือหุ้น ITV เพียงแค่เล็กน้อย ทำไมจึงผิดนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวิจฉัยที่ ในคดีถือหุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานรัฐที่วินิจฉัยให้ รมต. สส. และ สว.พ้นจากสมาชิกภาพไว้ว่า หุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานเป็นลักษณะต้องห้าม แม้ถือหุ้นเพียง 1 หุ้นก็ขาดคุณสมบัติ ดังนั้นการที่นายพิธาอ้างว่าถือหุ้น ITV เพียง 42,000 หุ้น จาก 1,206,697,400 หุ้น คิดเป็น 0.0035% ไม่มีอำนาจสั่งการบริษัท ข้อโต้แย้งนี้ของนายพิธา จึงฟังไม่ขึ้นและไม่อาจหักล้างคำนิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางแนวไว้เดิม