รอลุ้นสำหรับการกลับสู่สนามการเมืองของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ในบ่ายวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีถือหุ้น บมจ.ไอทีวี (ITV) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
"อินโฟเคสวท์" พาย้อนรอยที่มาของคดีนี้
- 10 พ.ค.66 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ นายพิธา ถือหุ้นใน ITV จำนวน 42,000 หุ้น
- 10 ก.ค.66 กกต.เรียกนายพิธา เข้าชี้แจงข้อกล่าวหา
- 12 ก.ค.66 กกต.มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
- 19 ก.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา และสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น สส.
- 23 ส.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ อนุญาตขยายระยะเวลาให้นายพิธา ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ครั้งที่ 2 อีก 30 วัน
- 11 ต.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- 1 พ.ย.66 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดี
- 15 พ.ย.66 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดีต่อ
- 22 พ.ย.66 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนพยานบุคคลเพิ่มเติม
- 20 ธ.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ ไต่สวนพยาน 3 ปาก คือ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต., นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ นายคิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และผู้ลงนามบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ITV
- 24 ม.ค.67 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในเวลา 14.00 น.
ประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่คนทั้งประเทศต่างจับตากันมาอย่างยาวนานว่าศาลจะมีคำตัดสินอย่างไร และจะซ้ำรอยกับคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ เมื่อครั้งถือหุ้นสื่อของบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด จำนวน 675,000 หุ้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่านายธนาธร มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลง เพราะมีความใกล้เคียงกันทั้งในเรื่องความเป็นสื่อของทั้งวีลัค มีเดีย และไอทีวี และประเด็นในการโอนหุ้นก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง สส.
คงต้องมารอดูว่าเสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นเช่นไร จะเป็นการตีความตามตัวบทกฎหมายหรือเจตนา ซึ่งหาก "พิธา" รอด ก็จะถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. และสามารถกลับมาทำงานการเมืองได้ตามเดิม แต่หากไม่รอด ก็จะส่งผลให้หลุดจากการเป็นสส.
แต่คดีของ "พิธา" ยังไม่จบแค่นี้ เพราะหลังจากคดีนี้แล้ว นายพิธาและพรรคก้าวไกล ยังต้องมีลุ้นในคดีการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ในสัปดาห์หน้า (31 ม.ค.67)