นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กับฟนายรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
โดยในการหารือทั้งสองได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เยอรมนีพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็น 50% ภายในปี ค.ศ. 2040 และขยายการลงทุนในอุตสาหกรรม EV เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังยินดีส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนในไทยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
การเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนียังได้นำคณะคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนี ร่วมเดินทางมาด้วย ประกอบด้วยผู้แทนจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 1) สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3) พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4) บริการ ดิจิทัลและการศึกษา และ 5) วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและความต้องการด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน
ในระหว่างการพบกับภาคเอกชน นายกฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ ๆ รวมทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ Landbridge โครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย Ease of Doing Business และการสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา โดยภาคเอกชนแสดงความสนใจในด้านงานสินค้านานาชาติ การรีไซเคิลและการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ ซึ่งไทยพร้อมพิจารณาเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากเยอรมนีต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพร้อมจะยกระดับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนทั้งจากไทยและเยอรมนี โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในเดือนมีนาคม 2567 นี้ เพื่อพบปะกับบริษัทของเยอรมนี ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนของเยอรมนี
ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีขอการสนับสนุนสำหรับการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อให้บรรลุขอยกเว้นตรวจลงตรา สำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย โดยไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันชื่นชอบ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเมื่อปี 2566 กว่า 700,000 คน และชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วันแล้วด้วย