รอลุ้นอีกหนึ่งคดีการเมืองร้อนในบ่ายวันนี้ ที่จะชี้ชะตาว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น) และพรรคก้าวไกล จะได้ไปต่อทางการเมืองหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ยื่นร้องว่า การกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่นำประเด็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้เป็นนโยบายหาเสียงนั้น ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
ที่มาที่ไปของคดีนี้ เริ่มจาก
- 22 พ.ค.66 นายธีรยุทธ ได้นำเรื่องดังกล่าวไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
- 30 พ.ค.66 ร้องต่ออัยการสูงสุด
- 16 มิ.ย.66 ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
- 26 มิ.ย.66 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบว่า มีคำสั่งรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาหรือยัง
- 12 ก.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง
- 16 ส.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ ขยายเวลาให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นครั้งที่ 2
- 4 ต.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งความเห็นและสำเนาเอกสารหลักฐานมาให้ภายใน 15 วัน
- 11 ต.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งความเห็นและสำเนาเอกสารหลักฐานมาให้เพิ่มเติมภายใน 15 วัน
- 22 พ.ย.66 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ไต่สวนพยานบุคคล
- 6 ธ.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ ขยายระยะเวลาให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล ยื่นบันทึกถ้อยคำข้อเท็จจริงหรือความเห็นในคดี
- 25 ธ.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ ไต่สวนพยาน 2 ปาก คือ นายพิธา และนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลและนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค.67 เวลา 14.00 น.
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า การยื่นร่างแก้ไขมาตรา 112 ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทั้งในส่วนกระบวนการ โดยมองว่าการยื่นกฎหมายใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ เพราะเมื่อยื่นร่างกฎหมายเข้าไปแล้ว ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องพิจารณาในเชิงเนื้อหาสาระ และในการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 112 นั้น แม้จะมีเนื้อหาบางส่วนที่บางฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับอัตราโทษ หรือเหตุยกเว้นความผิด และโทษ