นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ออกมาตำหนิรัฐบาลกรณีตอบรับที่จะมาชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ในช่วงหลังวันที่ 15 มี.ค.67 เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและประชาชน โดยรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญในการทำหน้าที่ของวุฒิสภา เนื่องจากเรื่องที่ สว.จะอภิปรายทั้ง 7 ประเด็น หากปล่อยทิ้งไปนานวันจะทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยมากขึ้น บางเรื่องหากปล่อยให้ดำเนินการไปอาจจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างแก้ไขไม่ได้
"วุฒิสภามีเรื่องสำคัญเพียงพอที่จะเปิดอภิปราย มีความสุกงอมมากพอ จำเป็นต้องเท่าทันกับห้วงเวลาที่จะเกิดปัญหา เรามีเหตุมีผล เรายกร่างหนังสือมา และทำตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญทุกประการ การที่รัฐบาลจะมาตอบเราปลายเดือน มี.ค.เป็นต้นไป หรือปล่อยให้เราหมดวาระการดำรงตำแหน่งนั้นไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการละเลยการทำหน้าที่ที่ดีของรัฐบาลของประชาชน" นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
การชี้แจงล่าช้าเป็นเหตุผลให้เกิดความสงสัย การดึงเวลาไว้ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อรัฐบาลเลย มีแต่ผลเสีย เพราะเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภาและตัวแทนของประชาชน เมื่อวุฒิสภาทำหน้าที่เหล่านี้ รัฐบาลต้องวางเรื่องอื่น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และมาตอบ แถลงข้อเท็จจริง แถลงปัญหา ข้อจำกัด เพื่อหาวิธีการจัดการกับเรื่องที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน โดยได้เสนอกรอบเวลาไปเป็นลายลักษณ์อักษร 2 วัน คือ วันจันทร์และวันอังคารในเดือน ก.พ.ซึ่งมีหลายสัปดาห์
"ถ้าท่านละเลย หรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยไปหน่อย ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ หากท่านเห็นว่ามีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า แล้วให้เวลาเราปลาย มี.ค. ซึ่งท่านก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำ เป็นเพียงข่าวจากแกนนำของรัฐบาล ไม่ได้ให้ตามคำขอของเรา ถ้าเกิดท่านติดภารกิจอีก มันจะไปเดือน เม.ย.ใช่หรือไม่ อย่างไร ถ้าไป เม.ย. แล้วเปิดไม่ได้ ติดสมัยประชุม ก็จะถึงวิธีการที่ไม่ต้องมาอธิบายเลยใช่หรือไม่" นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ประธานวุฒิสภายังไม่บรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วน ตนอยากจะถามเหมือนกันว่าทำไมถึงยอมให้รัฐบาลต่อรองได้ เพราะเรากำหนดไปแล้ว หากเขาไม่มา เราก็อภิปรายข้างเดียวไปเลย หากรัฐบาลไม่มาก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องอย่างนี้ไม่ให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภาไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องมาแถลงข้อเท็จจริง ชี้แจงข้อขัดข้อง และคำถามที่วุฒิสภาแจ้งไปแล้ว
"หากเห็นว่าการทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารและทำตามนโยบายอื่นๆ สำคัญกว่าเรื่องนี้ ผมคิดว่าน่าจะไม่ถูกต้อง ละเลยความสำคัญของการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมาชี้แจงทั้งคณะร้ฐมนตรี (ครม.)" นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า โดยปกติการเสนอญัตติให้รัฐมนตรีมาชี้แจงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และมีความสำคัญ ซึ่งการที่รัฐบาลจะให้เวลาอภิปรายได้ในช่วงเดือนมี.ค. หรือตั้งแต่ 18 มี.ค.ไปแล้วนั้น แม้จะสามารถทำได้ แต่หากจะทบทวนและปรับให้เร็วขึ้นกว่านั้น น่าจะเป็นประโยชน์กว่า โดยเชื่อว่าวิป 2 ฝ่าย จะสามารถตกลงกันได้
"ช่วงเวลาจากนี้ไป จะมีหลายเรื่องรุมล้อมเข้ามา ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ หรืออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติหรือไม่ และยังมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16 ก.พ. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และยังมีผู้ยื่นแก้มาตรา 256 รวมไปถึงการยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการประชามติ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น หากมีวาระเหล่านี้ การอภิปรายของ สว.ในประเด็นเดียวกันก็อาจจะน้อยลง" นายคำนูณ กล่าว
ส่วนการเปิดให้ สว. ร่วมลงชื่อในวันนี้ เพื่อกำหนดกลุ่มอภิปรายหัวข้อนั้น นายคำนูณ กล่าวว่า ต้องรอดูกำหนดเวลาก่อน ถ้าได้เวลาอภิปรายเพียง 1 วัน ก็มีจำนวนชั่วโมงที่ต้องมาหารเวลากัน ซึ่งมีทั้ง สว. ที่ลงชื่อและไม่ลงชื่อ อาจอภิปรายได้ไม่ครบทุกคน เพราะเมื่อแบ่งเวลากันแล้ว อาจจะเหลือเวลาอภิปรายคนละ 5-7 นาที
"ส่วนตัว ได้เตรียมเรื่องอภิปรายเพียงเรื่องเดียว เกี่ยวกับการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน หรือโอซีเอ ระหว่างไทย-กัมพูชา เพราะยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการถกเถียงกันมากแล้ว และหากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ตกลงจะเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ก็จะมีเวทีพูดคุยเรื่องนี้" นายคำนูณ กล่าว