พรรคเพื่อไทย นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค, นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค, นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เลขาธิการพรรค, น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตัวแทนภาคประชาชน ร่วมแถลงข่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ?. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ? ที่จะเข้าในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 16 ก.พ. โดยมีนายชูศักดิ์ เป็นผู้เสนอ
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า วันนี้มาในฐานะประชาชน เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในฐานะประชาชน ต่อการผลักดันร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่ง สส.ของพรรคเพื่อไทย ได้เข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาฯ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน และให้สิทธิของผู้เสียหายสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ฟ้องร้องคดีต่อศาลได้โดยตรง ในกรณีที่คณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรืออัยการ สั่งยกคำร้อง หรือสั่งไม่ฟ้องได้ หลักการสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือในกรณีที่มีคดีความ ซึ่งมีการยื่นร้องต่อป.ป.ช. หากป.ป.ช.มีมติไม่รับคำร้อง หรือพิจารณาแล้วยกคำร้อง หรือพิจารณาชี้มูลความผิดส่งต่อไปยังอัยการ แล้วอัยการไม่สั่งฟ้อง ซึ่งเดิมคือถ้า ป.ป.ช.ไม่รับคำร้อง หรือยกคำร้อง จะจบในชั้นป.ป.ช. ถ้าป.ป.ช.ชี้มูลความผิดส่งไปที่อัยการ อัยการสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.สามารถฟ้องเองได้ แต่หากทั้งอัยการ และป.ป.ช. เห็นตรงกัน ทุกอย่างก็จบลงตรงนั้น และร่างกฎหมายที่แก้ จะไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายในการยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรง
"คำถามคือ ถ้าแก้อย่างนี้ จะไปกระทบกับขอบเขตอำนาจเดิมของป.ป.ช. หรืออัยการหรือไม่ ยืนยันว่าไม่ เพราะทุกเรื่องยังไปตั้งต้นที่ป.ป.ช. อยู่ดี จนกว่าป.ป.ช. จะมีมติเป็นข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง" นายณัฐวุฒิ กล่าว
พร้อมระบุว่า กรณีนี้จะทำให้นักร้องทั้งหลาย ไม่สามารถหยิบเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรง เพราะร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จะให้สิทธิเฉพาะผู้เสียหายตามกฎหมาย ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ได้นัดหารือประเด็นนี้กับนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งจากการพูดคุยนอกรอบ คือ ได้รับการตอบรับ แต่ยังไม่คุยกันในรายละเอียด
"ขอเสียงสนับสนุน ให้เป็นอีกครั้งที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน จะลงมติเห็นชอบกฎหมายร่วมกัน เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เพื่อรักษาสิทธิให้กับผู้เสียหาย โดยไม่รอนสิทธิองค์กร หรือหน่วยงานเดิมที่มีอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว" นายณัฐวุฒิ กล่าว
ด้านนายชูศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่ สว.ออกมาเตือนว่าร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ว่า การเสนอกฎหมายนี้มี 2 หลักการสำคัญ หลักการที่ 1 คือหลักกฎหมายที่คานอำนาจ ระหว่างป.ป.ช. และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ดังนั้นจึงมองว่า กรณีที่ไม่ฟ้องหรือสั่งไม่มีมูล ให้ส่งสำนวนมายังสำนักอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา หากมีหลักฐานและพยานเพียงพอ ก็สามารถสั่งฟ้องได้
หลักการที่ 2 กระบวนการยุติธรรมโดยทั่วไป ควรจะเพิ่มสิทธิให้กับบุคคลที่เป็นผู้เสียหาย เพิ่มสิทธิให้กับประชาชน ผู้ได้รับความเสียหายในการดำเนินคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะผู้เสียหายในคดีอาญา ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็คงมีสิทธิ์ฟ้องศาลได้ ถือว่าเป็นการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
"การที่สว. ออกมาวิจารณ์วาระกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเป็นการรื้อฟื้นคดีที่ผ่านมาหรือไม่นั้น คำตอบคือ การสั่งฟ้อง จะต้องอยู่ภายใต้อายุความ ไม่ใช่เป็นการรื้อคดีขึ้นมาทำใหม่ คนที่มีสิทธิ์ที่จะสามารถฟ้องได้ จะต้องเป็นคนที่เป็นผู้เสียหายทางคดีอาญา ส่วนประเด็นที่จะไปกระทบต่อความปรองดองสมานฉันท์นั้น เป็นการสร้างหลักการทางกฎหมาย ซึ่งก็เป็นเรื่องของหลักฐานต่อกระบวนการยุติธรรมที่ต้องพิสูจน์ และเราไม่มีเจตนาที่จะรื้อฟื้นความขัดแย้ง แต่เป็นการเพิ่มให้สิทธิ์ประชาชน ที่จะได้รับความยุติธรรมจากรัฐ" นายชูศักดิ์ กล่าว