นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณ ชี้แจงภาพรวมงบประมาณว่า การใช้งบประมาณไปพลางก่อน ไม่ใช่อำนาจของสำนักงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่เป็นไปตามกลไกของข้อกฏหมาย และรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี และครม.ก็รับทราบ
"การใช้งบประมาณไปพลางก่อน จะมาตั้งโครงการใหม่หรือนโยบายใหม่ ทำไม่ได้ และข้อดีของงบไปพลางก่อน ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในสมัยที่แล้วมาเรียบร้อย จึงเป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนในระดับหนึ่ง และสามารถกำหนดได้เพียงหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเท่านั้น เช่น สามารถใช้วงเงินไม่เกิน 2 ใน 3 ของแต่ละแผนงาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งบประมาณ 67 ได้ในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนเม.ย.นี้" รมช.คลัง ระบุ
ส่วนการทำงบประมาณปี 2567 ได้มีการปรับให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันเป็นที่เรียบร้อย โดยการจัดทำภายใต้งบประมาณ 67 เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ครม.ได้เห็นชอบทบทวนงบประมาณ และได้มีการเพิ่มงบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบายให้นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งขั้นตอนได้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย
ทั้งนี้ รายจ่ายที่ได้บรรจุในปี 2567 ประกอบไปด้วย 3 สิ่งสำคัญคือ 1.ค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ 2.ค่าใช้จ่ายตามข้อผูกพัน และ 3.ค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน รวมแล้วประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทเศษ
นายจุลพันธ์ ชี้แจงต่อว่า ในส่วนงบลงทุนที่คงค้างก็ไม่ได้มีการเร่งรัดให้ลงทุนทั้งหมด เพราะว่าต้องรอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในเรื่องของงบประมาณลงทุน เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนและเหมาะสมต่อสถานการณ์ ก่อนในปีงบประมาณที่จะถึงนี้อย่างสมบูรณ์
ส่วนข้อห่วงใยในการจัดทำงบประมาณขาดดุล นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า โดยสภาวะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา กลไกในการขาดดุลงบประมาณเป็นสิ่งจำเป็น เพราะต้องขาดดุลเพื่อที่จะมีกำลังในการพัฒนาประเทศ ดูแลประชาชนในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องสวัสดิการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเดินหน้าโครงสร้างของรัฐเพื่อรับใช้ประชาชน ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นและรัฐบาลก็ดำเนินการเช่นนี้มาหลายปี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ได้มีการอนุมัติแผนการคลังระยะปานกลางปี 2568 -2571 โดยให้ความสำคัญในการลดขนาดขาดดุลของงบประมาณลง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี 68 จำนวน 7.13 แสนล้านบาท และลดลงปีละ 10,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 0.2% ของ GDP
และหากระยะต่อไปเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามที่วางไว้ 5% ภาครัฐสามารถเก็บรายได้ตามเป้า มีความเข้มแข็งทางด้านการคลัง หนี้สาธารณะ บริหารให้เกิดความเหมาะสม เพื่อที่จะเดินไปสู่เป้าหมายการคลังในระยะยาว และทุกฝ่ายก็หวังว่ารัฐบาลจะสามารถเดินหน้าสู่การทำงบประมาณสมดุลได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม
รมช.คลัง ยังชี้แจงถึงข้อห่วงใยเรื่องการตั้งงบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีข้อเสนอให้บรรจุไว้ในงบประมาณปี 2567 ว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการทุกโครงการของรัฐบาลรวมถึงดิจิทัลวอลเล็ต แต่ในการพิจารณาของคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่ามีความจำเป็นในการกู้ผ่าน พ.ร.บ. ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสมาชิกทุกคน และยืนยันว่า ยังเดินหน้าโครงการนี้แน่นอน
ส่วนขณะที่สมาชิกห่วงใยในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรม และการนิรโทษกรรมนั้น นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลนี้ให้ความจริงใจ พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
"ขอฝากเรื่องนี้ไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร ในการศึกษาเพื่อหาความเหมาะสม เนื่องจากทั้ง 2 เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ก็มีความละเอียดอ่อน จึงจำเป็นต้องพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความลงตัวเหมาะสมที่สุด" นายจุลพันธ์ กล่าว
ส่วนการจัดทำงบแบบฐานศูนย์ หรือ Zero Based Budgeting นั้น นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดการใช้เงินงบประมาณภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพ และรัฐบาลยังใช้หลัก 3E คือ ประหยัด ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล นำมาใช้ รวมถึงหลัก 3 R ในการจัดทำงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายของสมาชิก ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบ 262 เสียง ยึดตามการแก้ไขของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยมีเสียงไม่เห็นด้วย 141 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง