ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และ 3 มาตรา 18 กระทรวงพลังงาน พรรคก้าวไกลได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณในมาตรานี้ 5% แม้ได้รับงบน้อยสุด
เริ่มด้วยน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในส่วนโครงการจัดทำระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านพลังงาน 2566-2580 (แผนพลังงานชาติ) ในส่วนของงบจ้างที่ปรึกษา (ทำซอฟแวร์ Automate-MRV) เพื่อประเมินผลกระทบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และติดตามการเปลี่ยนแปลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6.3 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ แผนพลังงานชาติ ที่ควรออกมาตั้งแต่ปี 2022 แต่จนถึงตอนนี้ 2 ปีผ่านไป ก็ยังไม่มีแผนพลังงานชาติออกมา และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีแผนรับฟังความคิดเห็นสำหรับแผนพลังงานชาติเลย และล่าสุด มีการกำหนดแผนรับฟังความคิดเห็นในเดือนเม.ย. และหากทำเสร็จจะได้ประกาศใช้แผนพลังงานชาติ ก.ย. 67 ตรงกับสิ้นปีงบประมาณปี 67 พอดี ดังนั้น จึงยังไม่เห็นเหตุผลที่จำเป็นต้องทำระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ.2566-2580 เพราะแผนพลังงานยังไม่ออกมา จึงอยากสอบถามว่าในชั้นกรรมาธิการได้มีการสอบถามเรื่องนี้กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)อย่างไร
"เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่น่ากังวล เราควรมีแผนพลังงานชาติ แผนในการผลิตกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2022 แต่จนป่านนี้ ผ่านมา 2 ปี ไม่ทราบรออะไร ก็ยังไม่ได้อนุมัติแผนนี้เสียที ไม่รู้ว่ามัวแต่แก้ไขเพื่อให้ถูกใจใครหรือไม่" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
พร้อมระบุว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีการอนุมัติแผนพลังงานชาติ แต่รัฐบาลกลับอนุมัติแผนรับซื้อพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสมัยที่ตนทำหน้าที่เป็น สส.สมัยแรก เคยตั้งคำถามถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว 3 เขื่อน ว่าเป็นไปตามแผนพลังงานชาติฉบับใหม่แล้วหรือไม่ แต่มีการอนุมัติทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจาก 3 เขื่อนเรียบร้อยแล้ว รวมถึงการรับซื้อพลังงานทดแทน 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่ทราบว่าสอดคล้องกับแผนพลังงานชาติฉบับใหม่หรือไม่
"ถ้าไม่จำเป็นต้องมีแผนพลังงานชาติ เราก็อนุมัติซื้อไฟฟ้าได้ หรือรับซื้อไฟฟ้า ก็ให้อำนาจไปอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานไปเลย และไม่ต้องทำแผนพลังงานชาติแล้ว รวมถึงงบประมาณต่างๆ ก็ไม่ต้องดำเนินการแล้ว" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว
นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายขอปรับลดงบประมาณในมาตรานี้ 5% แม้กระทรวงพลังงานจะได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 1,856 ล้านบาท แต่ถูกจัดสรรไปให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 1,172 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้านพลังงานทดแทนได้เงินไปกว่า 800 ล้านบาท และนำไปชดเลยปาล์มน้ำมัน 300 ล้านบาท แต่ที่เหลือ 441 ล้านบาท นำมาสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งเขื่อนขนาดเล็กและโซลาร์แบบลอยน้ำ ซึ่งเงินในส่วนนี้ที่มีปัญหา คือ
1.ประชาชนต้องจ่ายเงินซ้ำซากให้กับโรงไฟฟ้า เขื่อนขนาดเล็ก หมายถึงว่า เขื่อนเหล่านี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชน นอกจากจะจ่ายเงินค่าสร้างแล้ว ยังต้องจ่ายเงินที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ผลิตไฟฟ้าไปยังบ้านประชาชนอีก แต่คำถามสำคัญคือ เงินที่ได้จากการขายไฟจากโรงไฟฟ้าเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน
2.ค่าก่อสร้างที่แพงแล้ว แพงอีก ทั้งของเขื่อนขนาดเล็กและโซลาร์แบบลอยน้ำ มีมูลค่าการก่อสร้างสูงกว่ายุโรป 4 เท่าตัว จึงต้องคำถามกลับไปยังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานว่า ที่ผ่านมามีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสและมีการประกวดราคาที่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นไปอีก
3.ปัญหาเรื่องงบประมาณ โดยตั้งคำถามว่า เหตุใดกระทรวงพลังงงานต้องของบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เพราะยังมีกลไกอื่น คือ กองทุนด้านพลังงานอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่ยังเหลืองบประมาณ 5,016 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้เพียงพอที่จะนำไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ทั้งหมด และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่เหลือเงินสด 12,005 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากนำเงินทั้ง 2 กองทุนมารวมกัน จะสามารถสร้างโรงงานไฟฟ้าสะอาดในพื้นที่ที่ห่างไกล โดยไม่จำเป็นต้องของบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว
พร้อมได้เสนอแนะให้ใช้เงินจากกลไกกองทุนในการสร้างเขื่อนแทนงบประมาณ, โอนโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งหมดไปอยู่ในการดูแลของ กฟภ. เพื่อนำให้กระบวนการคัดเลือก การก่อสร้าง การประมูลมีความโปร่งใสมากขึ้น, ยกเลิกการนำต้นทุนที่ใช้ในการสร้างเขื่อนขนาดเล็กมาคิดรวมในค่า Ft
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเรื่องค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ระหว่าง บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือครองสัมปทานเดิม
ปัญหาจากการดำเนินการผิดพลาด บกพร่อง ขาดความรอบคอบและไม่รัดกุม ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องอนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ต่อสู้ในคดีนี้ 450 ล้านบาท ในการจ้างที่ปรึกษาทางกฏหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจากความผิดพลาดนี้มาจากคนเดียว นำมาซึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยต้องรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจ่าย แม้วันนี้ยังไม่มีคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายต่อประเทศชาติ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงมาก มีการใช้จ่ายไปแล้วมากกว่า 374 บาท
"เรื่องนี้ต้องถามไปที่กรรมาธิการว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในวันนี้ และพล.อ.ประยุทธ์ในวันนั้น ไม่ดำเนินการตามนโยบายพลังงาน และเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่ผิดพลาด บกพร่อง ปล่อยปละละเลย ไม่รอบคอบไม่รัดกุมเช่นนี้ จะดำเนินการเอาผิดอย่างไรกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่" น.ส.เบญจา กล่าว
อีกทั้งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการใช้กฏหมายอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย กระบวนการยุติธรรมในประเทศขาดหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ และการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ส่งผลกระทบทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติไม่เป็นไปตามเป้า จึงต้องนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาทดแทน ทำให้มีต้นทุนที่สูงมากขึ้น เป็นภาระที่ซ้ำเติมประชาชนที่ต้องแบกรับต้นทุนที่มากขึ้น
รวมถึงการเจรจาประโยชน์ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 โดยมีผู้ได้รับสัปทาน คือ PTTEP และเชฟรอน ถือเป็นการเจรจาคืนสิทธิ์และเอาประโยชน์ของชาติไปต่อรองแลกมาหรือไม่ และจะส่งผลกระทบไปยังการเจรจาหาทางออกข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาด้วย และอาจนำไปสู่การที่ประเทศชาติและประชาชนเสียประโยชน์จากความไม่รอบคอบและความผิดพลาดซ้ำรอยเดิมหรือไม่