นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 โดยได้ฝาก 9 คำถามรัฐบาลถึงแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและปากท้องของประชาชน เนื่องจากอัตราการเติบโตของประเทศขณะนี้ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นในระดับดับปีละ 3.5% หลังหน่วยงานด้านเศรษฐกิจออกมาประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 67 ตรงกันว่าขยายตัวต่ำกว่า 3%
ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกการลงทุนภาครัฐในช่วงที่ผ่านมามีเพียง 20% ของจีดีพี และจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพียง 20-24% ของจีดีพี ซึ่งไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่จะต้องมีการลงทุนภาครัฐไม่น้อยกว่า 69% ของจีดีพี
นายสถิตย์ ได้หยิบยกปัญหา 9 ด้านดังนี้
- การส่งออก รัฐบาลจะมีแนวทางในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างไร เนื่องจากสินค้าส่งออกที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัย ส่งผลให้การส่งออกเป็นเครื่องยนต์เก่า
- การกระจายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ เนื่องจากมี 15 จังหวัดที่มีรายได้คิดเป็น 70% ของจีดีพี ส่วนอีก 62 จังหวัดมีรายได้รวมกันแค่ 30%
- การลดความเหลื่อมล้ำ ขณะนี้มีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคอย่างไร จากที่กำหนดให้ภาคเหนือ (NEC) เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) เน้นอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีทัยสมัย ภาคกลาง-ตะวันตก (CWEC) เน้นเกษตร อุตสาหกรรมไฮเทค และท่องเที่ยว และภาคใต้ (SEC)เน้นอุตสาหกรรมชีวภาพ แปรรูปเกษตร และท่องเที่ยว
- การกระจายอำนาจเพื่อสร้างประสิทธิภาพ อปท.ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยทางการคลังกำหนดเป้าหมายจัดสรรรายได้ให้ อปท. 35% แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนเฉลี่ย 29%
- การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรที่ด้อยกว่าประเทศอื่น รัฐบาลมีแนวทางที่จะนำระบบเกษตรอัจฉริยะมาใช้อย่างไร
- การเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ SME และการช่วยเหเลือให้ฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19
- การผลักดันซอฟท์ พาวเวอร์ 11 สาขาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม, การขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะ 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์, การจัดตั้ง THACCA เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนยังไม่มีความคืบหน้า โดยขณะนี้ไทยมีอันดับล้าหลังเรื่อวงซอฟท์พาวเวอร์ในเวทีโลก
- การดำเนินโครงการรัฐบาลดิจิทัล เช่น ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการใช้บริการจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งรัฐบาลควรกำหนดไทม์ไลน์ที่ชัดเจน
- การก้าวสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาค (HUB) 8 สาขา เพื่อให้ไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางภายในปี 2588 เช่นเดียวกับกับประเทศเพื่อนบ้าน