นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชี้แจงถึงเหตุผลในการเปิดอภิปรายรัฐบาล ตามที่รัฐบาลออกมาตั้งคำถามว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายเพื่ออะไร เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ใช้เงินงบประมาณเลยสักบาทว่า การบริหารงานของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา แม้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 67 ยังไม่บังคับใช้ แต่รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณปี 67 ไปพลางก่อนได้ โดยตั้งแต่ 1 ต.ค. 66-31 มี.ค. 67 รัฐบาลใช้งบไปแล้ว 1.52 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83% ของวงเงินที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้ ดังนั้น ที่บอกว่ายังไม่ได้ใช้เงินสักบาท เป็นการแลบลิ้น ปลิ้นตา หลอกประชาชน
พร้อมมองว่า ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินไปมากมาย แต่ยังสอบตก เนื่องจากรัฐบาลใช้การตลาดนำการบริหาร สร้างภาพ แต่หลังภาพ ทุกวงการลงมติเกือบเอกฉันท์ว่ายังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่อีเวนต์ 6 เดือน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง บินไปมา 14 ประเทศ บวก 1 เขตเศรษฐกิจ เป็นนายก 180 วัน อยู่เมืองนอก 52 วัน
นายจุรินทร์ ยังตั้งคำถามว่า "นายกฯ ทำการตลาด หรือทำการตลก" เนื่องจากอยู่เมืองไทยบอกเศรษฐกิจไทยวิกฤต แต่อยู่เมืองนอก กลับไปเชิญชวนต่างชาติมาลงทุน มหาเศรษฐีโลกที่ไหนจะมาลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังวิกฤต แต่ถ้าเขาจะมา ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเชื่อมั่นในนายกฯ แต่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยที่สั่งสมมาตลอด พร้อมตั้งคำถามว่า นายกฯ แสดงบทบาทเซลล์แมน แต่ในฐานะเซลล์แมนประเทศ Close sale ได้บ้างหรือยัง
นอกจากนี้ จากการแถลงข่าวผลการโรดโชว์ 6 เดือน 14 ประเทศ คาดสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ 558,000 ล้านบาท ใน 10 ปีนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ยิ่งแถลง ยิ่งตอกย้ำว่าทำการตลาด เพราะยังไม่รู้ว่าที่คาดการณ์ไว้จะเป็นจริงหรือฝันทิพย์ อีกตัวอย่างคือ Tomorrowland คนในรัฐบาลโพสต์ผ่านเว็บทางการของรัฐบาลไทย ว่า Tomorrowland จะมาจัดเทศกาลดนตรีที่ไทยปี 69 และอาจต่อเนื่อง 10 ปี แต่เพียง 2-3 วัน ทาง Tomorrowland แถลงว่า ยังไม่ยืนยันที่จะมาจัดที่ไทย โดยต้องพิจารณาอีกมาก แปลว่าในเวลานี้เขาตอบโต้รัฐบาลไทยด้วยการปฎิเสธอย่างสุภาพ
"ก็อยากให้สำเร็จ และเอาใจช่วย แต่คนไทยอยากได้ของจริงมากกว่าการตลาด อะไรที่ยังไม่ใช่ ไม่ต้องตีปี๊ปก็ได้ มันเสียเหลี่ยม และคนไทยไม่ได้กินแกลบ พูดอะไรที่ไม่ใช่ เขาจับได้ คนไทยอยากเห็นนายกฯ บินเหมือนเหยี่ยวมากกว่าแมลงวัน ที่บินทั้งวันแต่ไม่ได้อะไร นอกจากสร้างภาพว่าบิน โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่เหยี่ยวบินทีไรไม่พลาดเป้า เพราะเหยี่ยวไม่ทำการตลาด" นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า 7 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้มีปัญหาทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการบริหาร ดังนี้
1. ปัญหาที่รัฐบาลนี้ยังก้าวไม่พ้น "คนชอบอวดบารมี" จะทำให้รัฐบาลมีปัญหาทางการเมืองตลอดไป โดย "บุคคลนี้" นายกรัฐมนตรี ถึงขั้นลงทุนนั่งรถประจำตำแหน่งไปหาถึงบ้าน แถมบอกว่าถ้ามีโอกาสจะไปขอคำปรึกษา
2. ปัญหาที่มีนายกรัฐมนตรีหลายคน แม้บางคนบอกเป็นแค่วาทกรรม แต่นี่คือปัญหาใหญ่ทางการเมือง ที่รัฐบาลเศรษฐากำลังเผชิญ สะท้อนความไม่เชื่อมั่น และการด้อยค่านายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ
"นายกฯ ไม่ได้มีคนเดียว มีนายกฯ นิด นายกฯ ใหญ่ และนายกฯ เล็ก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารทางการเมือง ทำให้เกิดปัญหาอำนาจซ้อนอำนาจ ทำให้รัฐบาลนี้กลายเป็นรัฐบาลหุ่น นายกฯ หงุดหงิดเกือบทุกครั้งที่ถูกถามเรื่องนี้ เพราะเป็นการดิสเครดิตโดยตรง และส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และการใช้อำนาจที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว ใครใหญ่" นายจุรินทร์ กล่าว
3. ปัญหาที่รัฐบาลนี้เต็มไปด้วยรัฐมนตรีไร้ประสิทธิภาพ มีทั้งรัฐบาลที่โลกลืม รัฐมนตรีผิดฝาผิดตัว รัฐมนตรีต่างตอบแทน รัฐมนตรีทำการเฉพาะกิจ และรัฐมนตรีที่โลกเซ็ง
"รัฐมนตรีที่โลกเซ็ง คือโลกยังไม่ลืม แต่โลกเซ็ง เช่น รมว.คลัง จ้องแต่จะแยกเขี้ยวใส่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่งานในหน้าที่ รายได้ 4 เดือนต่ำกว่าเป้า กองทุนประกันวินาศภัยติดลบไป 5 หมื่นกว่าล้านบาท ยังไม่รู้จะแก้อย่างไร ดังนั้น ขอฝากนายกฯ ปรับครม. รอบนี้ช่วยดูแลรัฐมนตรีที่โลกเซ็งด้วย" นายจุรินทร์ กล่าว
4. ปัญหาเศรษฐกิจมหภาค ภาพรวม 7 เดือน ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา เศรษฐกิจไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและโลกได้ ดูจากจีดีพีไตรมาส 4/66 ต่ำกว่าเป้าที่คาดการณ์ 2.0-2.2% แต่ทำได้แค่ 1.9% ส่วนปี 67 ทั้งปีทุกสำนักประเมินตรงกันว่าเศรษฐกิจโตต่ำกว่าเป้าเดิมที่กำหนดไว้ แม้แต่สภาพัฒน์เดิมประเมินว่าเศรษฐกิจจะโต 2.7-3.7% แต่คาดการณ์ใหม่ว่าจะโตเพียง 2.2-3.2%
5. โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว
"คนไทยหลายคนเลิกเชื่อ เบื่อท้วงแล้ว เพราะเจอลูกหนี้ท่องคาถาไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ล่าสุดเห็นว่ามีมติว่า จะแก้งบประมาณปี 68 ให้ขาดดุลเพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้กับดิจิทัลวอลเล็ต แปลว่าไม่มีอะไรใหม่ ยังกู้มาแจกเหมือนเดิม เปลี่ยนจากพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เป็นใช้เงินกู้จากพ.ร.บ.งบปี 68 แทน และอีก 3.5 แสนล้านบาท ยังไม่มีคำตอบว่าจะเอาเงินมาจากไหน" นายจุรินทร์ ระบุ
6. ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นนโยบายไม่ตรงปก เพราะไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงอย่างเท่าเทียมกันทั้งประเทศตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ เปรียบเสมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้า
"400 บาททั่วประเทศ กลายพันธุ์เป็น 400 บาท เหลือแค่ 10 จังหวัด หย่อมๆ เหมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้า และอีก 67 จังหวัดไม่ตกเลยซักเม็ดเดียว คนจึงรู้สึกว่านโยบาย 400 บาทไม่ตรงปก" นายจุรินทร์ กล่าว
7. ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร ซึ่งรัฐบาลอาจจะหลงทาง ว่าการที่สินค้าเกษตรหลายตัวราคาสูงขึ้นเป็นเพราะผลงานของรัฐบาล แต่ในข้อเท็จจริงแล้วมาจากปัจจัยภายนอกมากกว่า เช่น ราคาข้าวที่กระเตื้องขึ้น เป็นเพราะอินเดียประกาศนโยบายห้ามส่งออกข้าว, ราคายางพาราที่สูงขึ้น มีหลายปัจจัย เช่น ผลผลิตโลกน้อยกว่าความต้องการ ส่งผลให้ราคายางปรับขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะในไทย, กฎกติกาใหม่ของสหภาพยุโรป ที่ห้ามนำเข้ายางที่มาจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้ทั้งโลก เร่งนำเข้ายางไปเก็บสต็อก และปัจจัยหนุนสุดท้าย คือประเทศไทยยางผลัดใบช่วงต้นปี ทำให้ไม่มีผลผลิต ราคาจึงพุ่งขึ้น
"รัฐบาลต้องไม่หลงทาง คิดว่าที่ยางขึ้น เพราะปราบยางเถื่อน รัฐบาลต้องเตรียมการไว้ ถ้าวันไหนยางราคาตก กรรมจะได้ไม่ตกกับเกษตรกร" นายจุรินทร์ กล่าว
8. ปัญหาใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลต้องแก้ไข เพราะสร้างความเสื่อมให้รัฐบาลมากที่สุด คือ การสร้างยุติธรรรม 2 มาตรฐาน เป็นผลงานชิ้นเดียวที่รัฐบาลนี้ทำได้เร็วที่สุด สำเร็จเป็นรูปธรรมมากที่สุด เป็นคำตอบว่ารัฐบาลนี้เพื่อใคร นั่นคือการสร้างนักโทษพันธุ์ใหม่
"การสร้างนักโทษพันธุ์ใหม่ ที่แม้แต่เทวดายังยอมให้ใช้ชื่อ ตั้งแต่คุกทิพย์ ปลอกคอทิพย์ เลี้ยงหลานทิพย์ สำนึกทิพย์ จนกระทั่งได้คืบเอาศอก ได้ศอกจะเอาวา ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นไม่ได้หากนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่รู้เห็นเป็นใจ" นายจุรินทร์ กล่าว
พร้อมระบุว่า เชื่อว่าคนไทยเข้าใจว่าเรื่องบุญคุณต้องทดแทน แต่ต้องไปตอบแทนกันเองส่วนตัว ไม่ใช่เอาบ้านเมืองไปตอบแทน คนหนึ่งได้อำนาจ อีกคนได้อภิสิทธิ์จากการใช้อำนาจ อาจรู้สึกยุติธรรมสำหรับคน 2 คน แต่ไม่ยุติธรรมต่อประเทศ และไม่ยุติธรรมต่อหลักนิติธรรม คนไทยไม่อยากเห็นรัฐบาลนี้ก่อกรรมเพิ่ม
"นายกฯ ตั้งใจจะอยู่ 4 ปี ถ้าอยู่เพื่อทำความดี ไม่มีใครว่า แต่ถ้าอยู่เพื่อทำความชั่ว แค่ปีเดียวก็ไม่ควรอยู่" นายจุรินทร์ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายจุรินทร์ ยังฝากคำถาม 3 ข้อไปถึงนายกรัฐมนตรี และขอให้นายกฯ ตอบด้วยตนเอง ดังนี้
1. นายกรัฐมนตรี มีนโยบายจะปล่อยให้เกิดการทำคุกทิพย์โมเดล ที่ทำลายหลักนิติธรรมมาใช้ซ้ำสองหรือไม่
2. ระเบียบใหม่ที่กระทรวงยุติธรรมกำลังออกมา เรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิถูกคุมขังนอกเรือนจำ หรือติดคุกนอกบ้านได้ จะรวมคดีทุจริต รวมคดีมาตรา 157 ด้วยหรือไม่
"ถ้าปล่อยโอกาสให้นักโทษคดีทุจริต มาตรา 157 ไปติดคุกที่บ้านได้ เท่ากับรัฐบาลนี้ส่งเสริมการทุจริตมุมกลับ หลักนิติธรรมของไทยอาจต้องเผชิญวิกฤตอีกครั้ง เพราะเกิดจากนักโทษเทวดาตัวใหม่" นายจุรินทร์ กล่าว
3. รัฐบาลมีนโยบายนิรโทษกรรมคดีทุจริต และคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ด้วยหรือไม่
"ที่ถามมาทั้งหมด เพื่อส่งสัญญาณต่อนายกฯ และพวกพ้องว่าอย่าคิดได้คืบเอาศอก เพราะในอดีตมีคนพังเพราะไม่รู้จักพอมาแล้ว มีผู้ร้องต่อองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับนักโทษเทวดาทั้งหมด 24 เรื่อง ขอเตือนนายกฯ และรัฐบาลว่า สิ่งที่นายกฯ และพวกได้ทำต่อหลักนิติธรรมประเทศ จะเป็นระเบิดเวลาที่ตั้งไว้ระเบิดใส่ตัวเองในอนาคต" นายจุรินทร์ กล่าวในท้ายสุด