การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 วันสุดท้าย เริ่มตั้งแต่เวลา 09:00 น.
เปิดฉากการอภิปรายวันนี้เริ่มจากนายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ได้สอบถามถึงเหตุการณ์พลุระเบิดที่มูโนะ จ.นราธิวาส รวมถึงคดีส่วยมูโนะ และเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอน
จากนั้นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช ปชป. อภิปรายว่า ตลอดระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีและฝ่ายบริหาร บริหารราชการแผ่นดินมา 7 เดือน คำแถลงนโยบาย เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลมิได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้กับประชาชน ตามหลักความเป็นจริง โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนที่สวนทางกับความเป็นจริง เพราะทุกอย่างหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม อาจพูดได้ว่าเป็นนโยบายแห่งมายาคติ ที่แถลงไว้กับรัฐสภาแล้วยังไม่เกิดขึ้นจริง
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า รัฐบาลเคยระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแล้วเสร็จได้ภายใน 18 เดือน แต่การทำงานใน 6 เดือนที่ผ่านมา ยังเหมือนพายเรือวนในอ่าง ด้วยการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ แทนที่จะให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพราะจะได้มีตัวแทนในสัดส่วนพรรคการเมืองเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของจำนวนครั้งของการทำประชามติ จนต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะมีคำตัดสินออกมาได้เมื่อใด
"ผ่านมา 6 เดือน รัฐบาลยังตอบไม่ได้ ทำได้แค่เพียงเดินหน้าเป็นวงกลม พายเรือในอ่าง เหมือนตอนหนึ่งในตลกหกฉาก ที่ไม่ได้ขยับประเทศไทยให้ใกล้กับรัฐธรรมนูญ" นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ ทำนายว่า รัฐบาลจะมีไพ่ไม้ตาย 3 ใบ ที่เตรียมมาใช้ คือ
1. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) สูตรผสม จากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง เพื่อให้โหวตแข่งในประเด็นที่ต้องการผลักดัน
2. กินรวบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่หมกเม็ดไว้ใน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ซึ่งยื่นเมื่อต้นปี 2567 ผ่านกลไกของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีสัดส่วนจากรัฐบาล และ สส.ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน
3. ด่านทางผ่านวุฒิสภา ที่ได้สิทธิเห็นชอบเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ สสร.ยกร่าง ก่อนนำไปทำประชามติ แม้ว่าจะมีสว. ชุดใหม่ เชื่อว่ายังยึดโยงกับเครือข่ายอำนาจเดิมพร้อมมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นตลก 6 ฉาก กับการใช้เวลา 6 เดือน เกรงว่าความล่าช้าจะทำให้ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า และไม่มีใครรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร เกรงว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ซุ่มออก ลดทอนอำนาจประชาชน คือ มี สสร.สูตรผสม สูตรกินรวบ
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า หากสุดท้าย ถ้ารัฐบาลไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนออกแบบเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอง แต่ไปพยายามคิดค้นผลิตนวัตกรรมที่จะเข้าควบคุมเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเข้ามาล็อคสเป็ครัฐธรรมนูญ แบบนี้ไม่เรียกว่า ประชาธิปไตยที่เต็มใบ แบบนี้เรียกว่าประชาธิปไตยที่ต้องขอใบอนุญาต และเป็นใบอนุญาตที่ต้องจ่ายด้วยราคาแพงในอนาคตของประเทศนี้
"ผมทำนายว่า รัฐบาลคิดค้นและทยอยใช้ เพื่อควบคุมรัฐธรรมนูญใหม่ หากคำทำนายเป็นจริง คือ รัฐบาลเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่มากกว่าประชาชน เพราะรัฐบาลผลิตนวัตกรรมล็อกสเปครัฐธรรมนูญ แบบนี้ คือ ประชาธิปไตยที่ขอใบอนุญาต ผมเห็นท่าทีของพรรคเพื่อไทย พยายามออกแบบกลไกให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแทรกแซง ขอถามนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทยว่าเชื่อในอำนาจประชาชนหรือไม่ การพ่ายในสนามเลือกตั้งครั้งแรก หากมองว่าไม่ได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง จึงต้องหากระบวนการ" นายพริษฐ์ อภิปราย
นายพริษฐ์ ยอมรับว่า ไม่ปฏิเสธว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย มีความเชื่อมั่นแน่วแน่ในอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่พอเห็นท่าทีของพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนกำลังจะออกแบบจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ไปเปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซง
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องถามนายกรัฐมนตรีว่า ตกลงแล้วรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังเชื่อในอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอยู่หรือไม่ หรือพอมาถึงวันนี้ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแรก จึงประเมินว่าอาจจะไม่ได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง หรือความเชื่อมั่นจากการเลือกตั้ง ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว
นายพริษฐ์ ได้มีข้อเสนอแนะเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รวดเร็ว และมีความไว้วางใจประชาชน 4 ข้อ คือ
1.สนับสนุนคำถามประชามติที่เปิดกว้าง เพิ่มโอกาสที่ประชามติครั้งแรก (หากต้องทำ) จะผ่าน
2. สนับสนุนสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ไม่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาขี่คอ
3. สนับสนุนการแก้ไขรายมาตราให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แบบคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
4. สนับสนุนให้เร่งพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งขณะนี้มี 2 ฉบับ ที่เข้าคิวอยู่ในระเบียบวาระการประชุม
"ความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวของรัฐบาล ต่อการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชนในความจริงใจ และรักษาคำพูดและสัจจะที่ให้ไว้ประชาชน" นายพริษฐ์ ระบุ