นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวสรุปการอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมาไม่เคยเสียใจที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารถึงแม้จะชนะเลือกตั้ง สามารถรวบรวมเสียงได้ 312 เสียง ไม่เคยเสียใจที่เข้ามาเป็นฝ่ายค้าน และไม่เคยเสียใจว่าการอภิปรายในครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต ตนพร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะ ไม่มีอะไรติดค้างใจต่อไป
"มั่นใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพรรค ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค การทำลายพรรคก้าวไกล จะไม่ทำให้การเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยของเราหายไป ยิ่งยุบพรรคจะยิ่งทำให้พวกเราไปถึงเส้นชัยที่เราต้องการจะทำได้เร็วมากขึ้นด้วยซ้ำ" นายพิธา กล่าว
หลังจากฟังการชี้แจงของรัฐบาลในช่วง 2 วันที่ผ่านมาแล้วรู้สึกเสียดายโอกาสและเวลาของประเทศที่ต้องเสียไป เสียดายศรัทธาของประชาชน และเสียดายตัวเองที่เคยเป็นคนลงคะแนนให้กับพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ปี 2543
"วันนี้รัฐบาลเต็มไปด้วยความสะเปะสะปะ ที่หาเสียงไว้ไม่ได้ทำ ที่ทำไม่ได้หาเสียงไว้ จนอดรู้สึกไม่ได้ว่ารัฐบาลนี้ไม่มีวาระเป็นของตัวเอง ไร้วิสัยทัศน์ และไร้ผลงาน" นายพิธา กล่าว
โดยขอแบ่งการอภิปรายออกเป็น 3 ช่วง คือ สรุปการอภิปรายทั้ง 2 วันที่ผ่านมา การสะสางข้อเท็จจริงที่นำมาใช้ในการตอบโต้ และข้อเสนอแนะที่มีต่อรัฐบาล
ในส่วนของการสรุป ตนมีความกังวลว่า วิสัยทัศน์ 8 ฮับของรัฐบาลคือความมืด 8 ด้านของประชาชน ได้แก่ ส่วนที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คือ 1.มืดเรื่องปากท้อง 2.มืดแก้ส่วย 3.มืดผูกขาด ส่วนที่ล่าช้าคือ 4.มืดกระตุ้นเศรษฐกิจ 5.มืดแก้ไขรัฐธรรมนูญ และส่วนที่ละเลยคือ 6.มืดปฏิรูปกองทัพ 7.มืดมนคุณภาพชีวิต และ 8.มืดกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหลายเรื่องได้มีการตอบคำถาม ถกเถียง และรับปากจะไปดำเนินการบ้างแล้ว แต่สิ่งที่ตนรู้สึกว่ายังถกกันไม่ตกผลึกและยังไม่เห็นภาพชัดเจนคือเรื่องการปฏิรูปกองทัพ
การที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝ่ายค้านพูดแต่เรื่องเดิมๆ ตนก็เห็นว่านายกรัฐมนตรีพูดไม่เหมือนเดิม ก่อนเลือกตั้งพูดอย่างหนึ่ง หลังเลือกตั้งพูดอีกอย่าง
การอภิปรายเกี่ยวกับปฏิบัติการไอโอ หากรัฐบาลยังคงไม่รู้อยู่อีกว่า ใครเป็นคนทำไอโอในช่วงที่ผ่านมา ตนขอเสนอให้ไปอ่านงานวิจัยและข้อมูล 2-3 แหล่ง ทั้งของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สำนักข่าวรอยเตอร์ และมหาวิทยาลัยโตรอนโต ที่ยืนยันว่า การทำไอโอในประเทศไทยมีอยู่จริงและทำโดยกองทัพไทย
เรื่องที่สอง นายกรัฐมนตรีงงว่า พรรคก้าวไกลมีจุดยืนอย่างไรกันแน่กับเรื่องการจัดซื้ออาวุธ และยังกล่าวพาดพิงว่ามีคนจากพรรคก้าวไกลเคยบอกว่าจะเอาเรือประมงไปรบ จึงต้องขอนำข้อมูลมาทำความเข้าใจกับนายกรัฐมนตรีใหม่ว่า ตนได้ข้อมูลมาจากทหารเรือเอง รวมถึงจากทูตทหารหลายประเทศ เวลานี้ภัยความมั่นคงมันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นสงครามผสม (hybrid warfare) ช่วงที่ผ่านมาสงครามมีการพัฒนาไปมาก รวมถึงมีการใช้เรือประมงปลอมให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธในการทำลาย ขู่เข็ญ และปฏิบัติการจิตวิทยา อีกทั้งยังมีข้อมูลว่ามีบางประเทศในทะเลจีนใต้นำเรือประมงมาผสมกับเรือรบกว่า 20,000 ลำ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ตนไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่เป็นสิ่งที่ตนได้ยินมาจากทหารเรือและทูตทหาร รวมทั้งหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏข้างต้น
สำหรับการจัดซื้ออาวุธนั้น ขอย้ำว่า พรรคก้าวไกลมีหลักคิดในการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย มีสิทธิมนุษยชน มีความเป็นมืออาชีพ และต้องมีอาวุธที่เหมาะสม สามารถสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดขึ้นในประเทศเองได้ โดยไม่เบียดเบียนภาษีมากเกินไป ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการให้ซื้ออาวุธอะไรเลย ซึ่ง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้อภิปรายไปแล้วว่า เรือฟริเกตมีความจำเป็นอย่างไร เหมาะสมอย่างไร สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจได้อย่างไร และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างไร เมื่อเข้าเกณฑ์เช่นนี้ พรรคก้าวไกลจึงไม่คิดว่าจะต้องต่อต้านอะไร
ประการต่อมาคือ เรื่องของการสะสางข้อเท็จจริงที่ใช้ในการอภิปรายครั้งนี้ทั้งหมด ซึ่งตนจับคำพูดนายกรัฐมนตรีได้คำหนึ่งว่า อยากจะเน้นเรื่องบวก ไม่อยากจะเน้นเรื่องปัญหา แต่ความเป็นจริงคือประเทศของเรามีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน ความท้าทาย และโอกาส
นายพิธา กล่าวว่า คนที่จะเป็นผู้นำได้ ถ้าเน้นแต่เรื่องที่เป็นบวกอย่างเดียวก็จะเกาไม่ถูกที่คัน เวลาที่นายกรัฐมนตรีเลือกเอาตัวเลขมาพูดในสภาฯ ตนจึงได้เห็นแต่ตัวเลขที่เป็นบวก ที่เป็นผลดีต่อรัฐบาล แต่ไม่มีบริบท ไม่ครบถ้วน และเป็นแค่เหรียญด้านเดียวที่ไม่สามารถทำให้เห็นภาพปัญหาของประชาชน โอกาส และความท้าทายของประเทศไทย ทำให้รัฐบาลไม่สามารถมียุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาไปข้างหน้าได้ เน้นยกมาแต่ตัวเลขในเรื่องของปริมาณมากกว่าการเพิ่มมูลค่า เน้นเรื่องราคามากกว่าคุณภาพชีวิตประชาชน เน้นที่จะพึ่งปัจจัยจากต่างประเทศโดยไม่เน้นว่าจะต้องนำพลังมาจากภายในออกมา
ในเรื่องของภาคการผลิตที่นายกรัฐมนตรีใช้คำว่า "สึนามิแห่งการลงทุน" ซึ่งตนมีความกังวลว่ามันจะกลายเป็นสึนามิขึ้นมาจริงๆ เพราะแม้ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ก็เป็นเรื่องจริงและเป็นเรื่องดี แต่ประเด็นที่ยังเป็นข้อเท็จจริงอีกประการคือการที่ประเทศไทยตอนนี้ยังอยู่ที่อันดับ 6 ในอาเซียน นำอยู่แค่กัมพูชา ลาว และเมียนมา แม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโต แต่เมื่อเทียบกับประเทศอย่างฟิลิปปินส์มีการเติบโตถึง 7 เท่า ทุกประเทศเติบโตหมดและเติบโตมากด้วย ก็ขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีในการวางแผนและมีโรดแมพว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนที่เป็นประโยชน์กับภาคการผลิตของประเทศไทย ตามต่างประเทศให้ทัน ไม่ใช่นำแค่ประเทศเพื่อนบ้าน และไปกระทบกับเรื่องของเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องของการขาดดุลทั้งบัญชีการค้าและการทำงบประมาณด้วย
สำหรับภาคบริการ ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเป็นเซลส์แมนดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศมามาก แต่กลับไม่ค่อยมีการผลักดันสิ่งที่อยู่ภายในประเทศเพื่อรองรับการเข้ามาของเม็ดเงินเหล่านี้ มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าการท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับมาเติบโต แต่กว่า 80% ของการท่องเที่ยวยังคงเน้นอยู่แค่ 5 จังหวัด ไม่มีการสร้างสาธารณูปโภคที่ทำให้คนอยากจะไปให้มากกว่าแค่ 5 จังหวัด แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรถ้าการท่องเที่ยวมาใน 5 จังหวัด แต่คนที่อยู่ในจังหวัดเหล่านั้นต้องอยู่ท่ามกลางปัญหาขยะ มลพิษ มาเฟีย ยาเสพติด ส่วย และค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
นายพิธา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบาย IGNITE Tourism Thailand แต่การปล่อยให้ 20% ของจีดีพีไปพึ่งปัจจัยของนักท่องเที่ยวเพียงไม่กี่กลุ่ม แล้วลืมว่า ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทย ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของนักท่องเที่ยว ก็จะยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในภาคบริการมากขึ้น
"ท่านอย่ามองแต่เรื่องที่ต้องการจะให้เป็นบวก ท่านต้องมองให้ครบรอบด้าน ท่านอย่าไปมองแค่ราคา ไปดูคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย อย่าไปมองแค่ปริมาณ แต่ต้องมองเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่า ถ้าท่านมองแบบนี้ได้ผมก็คิดว่าปัญหามันจะทุเลาลง" นายพิธา กล่าว
เรื่องสิ่งแวดล้อม แม้นายกรัฐมนตรีจะยอมรับว่ามีปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่จริง แต่จุดความร้อนลดลงจากปีที่แล้ว นี่ถือเป็นข้อมูลที่เป็นบวกแต่ไม่รอบด้านอีกเช่นกัน เพราะในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา จุดความร้อนในภาคเหนือเพิ่มขึ้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และในปีนี้ก็เช่นกันที่จุดความร้อนต่อวันในภาคเหนือเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2567 จึงไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีไปดูข้อมูลเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์มาหรือไม่ แล้วรู้สึกว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว ถ้าดูให้ถูกจุดแล้วยอมรับข้อเท็จจริงนี้ จะเห็นได้ว่าจุดความร้อนต่อวันไม่ได้ลดลง
นอกจากนี้สิ่งสำคัญและเป็นตัวเลขที่นายกรัฐมนตรียิ่งควรจะต้องดูคือตัวเลขของคนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เป็นผู้ป่วยนั้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตัวเลขในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีจำนวนถึง 2 ล้านกรณีแล้ว
เรื่องการต่างประเทศนั้น การแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การเผาข้าวโพด หรือแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ จะทำไม่ได้เลยถ้าการต่างประเทศของไทยยังไม่รอบด้านเช่นนี้ โดยเฉพาะกรณีวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา นายกรัฐมนตรีควรที่จะมีความเห็นที่รอบด้านและสามารถมีความสัมพันธ์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เพื่อที่จะได้รับฟังข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน และสามารถแก้ไขปัญหาได้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมี Inter Agency ภายในรัฐบาลที่ดูเรื่องเกี่ยวกับกรณีเมียนมาโดยเฉพาะ ซึ่งจะมาดูแลทั้งการมีความสัมพันธ์กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง การทำระเบียงมนุษยธรรมที่ไม่ได้ทำให้นิยามของคำว่ามนุษยธรรมหายไป และไม่เป็นการส่งความช่วยเหลือไปให้กับแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศเพื่อต่างประเทศ แต่เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศของเราเอง ทั้งแรงงานข้ามชาติ ไฟป่า การเผาในพื้นที่ชายแดน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ
นายพิธา มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 3 ประการ คือ
1.ถ้าอยากจะกอบกู้ภาวะผู้นำของรัฐบาล ตนคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับ ครม.ได้แล้ว วางคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องเข้ามาทำงานจริง ที่ผ่านมา 7 เดือนก็พอจะทำให้เห็นภาพได้แล้วว่าใครที่มีประสิทธิภาพ และใครที่ไม่มีประสิทธิภาพ
2.ถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมีโรดแมพ วิสัยทัศน์ที่นายกรัฐมนตรีแถลงมา 8 ฮับ หลายเรื่องพูดมา 20 กว่าปีแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะพูดแค่ว่าจะทำอะไร แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไรและเมื่อไร ดังนั้นต้องมีโรดแมพว่าในช่วงไตรมาสนี้จะทำอะไร ปีนี้จะทำอะไร สมัยนี้จะทำอะไร ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเกิดผลลัพธ์ได้จริง
3.สิ่งที่สำคัญของคนที่เป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 คือการฟัง ซึ่งขอแนะนำนายกรัฐมนตรีว่า ต้องฟังเพื่อที่จะตอบสนอง ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะตอบโต้ตลอดเวลา เพราะบางครั้งเสียงที่ไม่อยากได้ยินก็คือ เสียงที่ประเสริฐที่สุด ตามที่เคยได้กล่าวไว้