นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยว่า นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ให้เลื่อนกำหนดฟังคำสั่งในคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปเป็นวันที่ 29 พ.ค.67 เวลา 09.00 น.
"เมื่อวานพนักงานสอบสวนได้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมกลับมา แต่มีเพียงบางประเด็น ยังไม่ครบถ้วนทุกประเด็น อัยการสูงสุดจึงยังไม่อาจมีความเห็นหรือคำสั่งในทางคดีได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนการฟังคำสั่งในคดีนี้ไปเป็นวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น." นายประยุทธ กล่าว
ทั้งนี้ อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้สอบสวนคดีนี้เพิ่มเติมเพื่อให้สิ้นกระแสความ หลังจากนายทักษิณยื่นคำร้องขอความเห็นธรรม โดยให้พนักงานสอบสวนส่งรายงานการสอบสวนเพิ่มเติมมาภายในวันที่ 10 เม.ย.67 ซึ่งเมื่อวานนี้พนักงานสอบสวนได้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมกลับมาให้เพียงบางประเด็นเท่านั้น ยังไม่ครบถ้วนทุกประเด็นตามที่กำหนดไว้
สำหรับประเด็นที่อัยการสูงสุดสั่งสอบเพิ่มเติมนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ละเอียดได้ แต่มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 70-80% ซึ่งเป็นการสอบถ้อยคำกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 30% นั้นเป็นการดำเนินการด้านเอกสาร หรือด้านอื่นๆ เกี่ยวกับผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญต่างๆ และหากพนักงานสอบสวนได้ส่งประเด็นการสอบสวนเพิ่มเติมครบถ้วนก่อนวันที่ 29 พ.ค.นี้ คาดว่าไม่น่าจะมีเหตุขัดข้องให้ต้องเลื่อนการฟังคำสั่งออกไปอีก
ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้เวลา 16.00 น.ได้แจ้งให้นายทักษิณแล้วว่าผลการสอบสวนยังไม่ครบถ้วน วันนี้นายทักษิณจึงยังไม่ได้เดินทางมาที่อัยการสูงสุดเพื่อรับทราบคำสั่ง แต่ให้ผู้รับมอบอำนาจมารับทราบคำสั่งดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
นายณรงค์ ศรีสันต์ รองโฆษก อสส.กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติของผู้ต้องหาหลังจากทราบวันนัดต่อไปแล้ว ผู้ต้องหาจะต้องมารายงานตัวด้วยตนเอง หากไม่มาต้องยื่นคำร้องเพื่อขอเลื่อนการรับฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ พร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้หัวหน้าอัยการใช้ดุลยพินิจว่ามีเหตุควรอนุญาตให้เลื่อนหรือไม่ หากไม่มีจะให้พนักงานสอบสวนติดตามตัวออกหมายจับเพื่อมาฟังคำสั่งในคดีต่อไป
นอกจากนี้ หากกระบวนการสั่งคดีของอัยการยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายเช่น การสอบสวนเพิ่มเติมไม่แล้วเสร็จ ผู้ต้องหาสามารถมอบหมายให้นายประกัน ญาติ หรือทนายความ เพื่อมารับฟังคำสั่งเลื่อนของอัยการได้ ซึ่งเหมือนกับผู้ต้องหามาขอเลื่อนด้วยตนเองแต่หากภายหลังมีการผิดนัดผิดสัญญาประกัน ก็สามารถดำเนินการบังคับตามสัญญาประกันได้
หากในวันนัดฟังคำสั่งครั้งแรกผู้ต้องหาได้เดินทางมาฟังคำสั่งฟ้องด้วยตัวเองแต่ไม่ได้เตรียมหลักทรัพย์การประกันตัวมา ผู้ต้องหาสามารถยื่นคำร้องต่ออัยการขอเลื่อนการส่งตัวฟ้องคดี เพื่อเตรียมหลักประกันในชั้นศาลก่อนได้ ยืนยันว่าเป็นกระบวนการตามปกติในการควบคุมตัว
ด้าน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ กล่าวว่า ได้รับอำนาจให้มารับทราบคำสั่งของอัยการ โดยอัยการขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งเป็นวันที่ 29 พ.ค.67 ซึ่งในคดีอาญาทั่วไป ผู้ต้องหาหรือทนายต้องประสานอัยการล่วงหน้า 1 วันว่าในนัดครั้งนี้อัยการจะสั่งหรือไม่ ถ้านัดสั่งฟ้องก็ต้องเตรียมหลักทรัพย์มายื่นประกัน หากมีเหตุอื่นที่ยังไม่สามารถสั่งฟ้องก็จะแจ้งให้ทราบ โดยผู้ต้องหาจะมาเองหรือมอบอำนาจให้นายประกันหรือทนายความมาแทนก็ได้
เรื่องคดีนั้นตนขอไม่ลงรายละเอียดการต่อสู้คดีเพราะเป็นความลับ ประกอบกับอัยการสูงสุดได้สั่งสอบเพิ่มเติมซึ่งมีรายละเอียดอยู่หลายประการ ส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา เราก็ให้การเพิ่มเติมไป หากเกี่ยวกับพยานคนอื่นหรือพยานคนกลางก็เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนกับอัยการที่จะมอบหมาย ในรายละเอียดเราไม่ทราบและขออนุญาตไม่เปิดเผย ไม่ลงรายละเอียดทั้งหมด หากพูดไปอาจกระทบคดี
ส่วนครั้งหน้าหากสั่งฟ้องก็มาตามนัด และไปปรากฏตัวที่ศาล เราจะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามอัตราที่ศาลกำหนดไว้ แต่ถ้าอัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดได้รับมอบหมายมีคำสั่งไม่ฟ้องก็ถือว่าคดีสิ้นสุดไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด
นายวิญญัติ กล่าวว่า ไม่สามารถบอกถึงความมั่นใจได้ แต่ขอต่อสู้ตามสิทธิ ตามพยานหลักฐาน ตามข้อกฎหมาย ซึ่งมี 2 เรื่องจากข้อกล่าวหาคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับมาตรา 112 เราต้องต่อสู้ว่าเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องมีข้อเท็จจริงที่ค่อนข้างครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนเราก็เสนอให้ทางอัยการสูงสุด ถ้าท่านเห็นว่ามีประโยชน์ทำให้การสอบสวนครบถ้วนและต้องเป็นธรรม ท่านก็จะให้สอบเพิ่มเติม ก็อย่างที่เห็นท่านให้สอบเพิ่มเติม ตนก็พูดได้เท่านี้เพราะไม่สามารถลงรายละเอียดคดีได้
"เรื่องคดีท่านก็มั่นใจอยู่แล้ว เพราะท่านไม่มีเจตนา ส่วนการใช้ชีวิตก็ปกติตามปุถุชน ท่านเป็นคนชรา มีอาการบาดเจ็บและได้รับการรักษา ขั้นตอนต่อไปท่านก็ต้องดูแลตัวเอง" นายวิญญัติ กล่าว