ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับพิจารณาคำร้องของประธานรัฐสภาที่ขอให้วินิจฉัยว่าหากรัฐสภาจะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นควรจะจัดทำประชามติกี่ครั้ง ในขั้นตอนใดบ้าง เนื่องจากเกรงว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต
"ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ (7 ต่อ 0) สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย" คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
โดยศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ แต่กรณีดังกล่าวต้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว
แต่การบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และคำร้องก็เป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงไม่เป็นไปตามตามเงื่อนไขที่ศาลจะรับไว้พิจารณา
ขณะที่การที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี 7 คนนั้น เนื่องจากนายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างรอการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และนายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 37 เนื่องจากเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ถอนตัวจากการพิจารณาคดีได้ องค์คณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้จึงประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 7 คนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 52