นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้มีการทำประชามติสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จำนวน 3 ครั้ง และให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เปิดทางให้ประชาชามีส่วนร่วมมากขึ้น ตามที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้เสนอ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณารายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถสรุปผลการพิจารณาได้ 2 ประเด็น คือ
1.การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการทำประชามติ
คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นว่า การจัดทำรัฐธรรมนูยฉบับใหม่ที่จะเป็นไปโดยสอดคล้องกับคำวินิจฉัยจองศาลรัฐธรรมนูญนั้น ต้องจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงเห็นควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่
- การทำประชามติครั้งที่ 1 ว่าเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- การทำประชามติครั้งที่ 2 เป็นการทำประชามติในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติม ม. 256) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- การทำประชามติครั้งที่ 3 เป็นการทำประชามติเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธฉบับใหม่
การจัดทำประชามติครั้งที่ 1 ควรกำหนดคำถามประชามติว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์"
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรกำหนดคำถามประชามติเกี่ยวกับการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ควรเป็นผู้พิจารณา จำนวนและที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรให้เป็นหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการเมื่อถึงขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (แก้ไขเพิ่มเติม ม. 256)
2.การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564
คณะกรรมการฯ มีข้อห่วงใยเพิ่มเติม โดยเห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสามารถเป็นเครื่องมือทางประชาธิปไตยที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง โดยเห็นควรให้แก้ไขในประเด็ฯต่างๆ เช่น กำหนดแบ่งประเภทให้มีการออกเสียงประชามติที่มีลักษณะเพื่อมีข้อยุติ และการออกเสียงประชามติที่มีลักษณะเพื่อให้คำปรึกษาหารือแก่ ครม. เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลจะจัดทำประชามติครั้งแรกในประเด็นดังกล่าวระหว่างช่วงวันที่ 21 ก.ค.-21 ส.ค.67 โดยใช้งบประมาณราว 3.2 พันล้านบาท