ก้าวไกล แนะทบทวนคำถามประชามติ เปิดกว้าง-เข้าใจง่ายไม่ทำเสียงตกน้ำ

ข่าวการเมือง Wednesday April 24, 2024 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลเห็นชอบในหลักการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจะใช้คำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 นั้น

"หากยังมีเวลาอยากให้รัฐบาลไปทบทวน ตั้งคำถามทำประชามติอย่างกว้างที่สุด เข้าใจง่าย ไม่ต้องมีเงื่อนไขซับซ้อน เช่น ถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับเก่า ซึ่งหากรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 รัฐบาลเองรวมถึง สส. ก็สามารถแก้ไขรายละเอียดด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสภา หลังการทำประชามติได้" นายชัยธวัช กล่าว

หลักของการทำประชามติคือต้องเข้าใจง่าย แต่หากตั้งคำถามโดยมีเงื่อนไขว่า ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 คนที่โหวตเห็นด้วย เขาเห็นด้วยกับอะไร ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียง เขาไม่เห็นด้วยกับอะไร ไม่เห็นด้วยกับการตั้งเงื่อนไขเว้นบางหมวด หรือไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากจะอยู่กับรัฐธรรมนูญ 60 ดังนั้นจะตีความผลประชามติอย่างไร

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า คำถามประชามติที่ไม่ซับซ้อนจะมีโอกาสทำให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น สามารถรวมคะแนนเสียงได้เป็นเอกภาพมากที่สุด แทนที่จะมีคะแนนเสียงบางส่วนที่อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข จึงโหวตไม่เห็นชอบ หรือไม่โหวตเลย ก็จะน่าเสียดาย เพราะเราคงไม่ได้ทำประชามติกันบ่อยๆ ทางฝ่านค้านก็อยากให้การทำประชามติมีโอกาสผ่านมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติปัจจุบัน ที่มีเงื่อนไขเสียงข้างมากสองชั้น หรือ double majority

"สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามทำคือ ส่งเสียงถึงรัฐบาล ต้องย้ำว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุน อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุด ไม่มีเจตนาขัดขวาง ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ ในขณะที่ ครม.ไม่ชัดเจนว่ามีมติเป็นทางการแล้วหรือยัง แปลว่ายังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนได้ ก็อยากให้ทบทวน" นายชัยธวัช กล่าว

เรื่องรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 คนในรัฐบาลบางคนพยายามสร้างความเข้าใจว่า พรรคก้าวไกลต้องการจะแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 มาก จึงคัดค้านคำถามแบบนี้ ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะหลักการพื้นฐาน หากอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญก็ควรจะแก้ได้ทั้งหมด ไม่ควรจะวางบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์

รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอย่างเดียว แต่มีเรื่องอื่นด้วย สมมติว่าในอนาคตมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภาแล้วให้ใช้ระบบสภาเดียวเหมือนประเทศไทยในอดีต แต่ในหมวด 1 มีถ้อยคำวุฒิสภาอยู่ จะเอาออกอย่างไร จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขถ้อยคำเพื่อให้มีความสอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจเลย ซึ่งอาจมีปัญหาทางเทคนิคเกิดขึ้นได้

"อยากให้รัฐบาลลองฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ส่วนตัวเชื่อว่า เป็นเสียงที่อยู่บนเจตนารมย์ที่ดี อาจจะไม่ต้องถามความเห็นพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเดียว แต่ต้องหาความเห็นของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมต่างๆ" นายชัยธวัช กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตนยังคิดว่า คำถามที่ดีที่สุดคือ คำถามที่เข้าใจง่าย และรวมเสียงของคนที่อยากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นเอกภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ