ผู้ประสงค์จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ส่วนหนึ่งได้เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ที่เป็นข้อห้ามผู้สมัครแนะนำตัวผ่านสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
นายพนัส ทัศนียานนท์ นักวิชาการด้านกฎหมาย ผู้ประสงค์จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า สิทธิในการแนะนำตัวควรเป็นสิทธิเสรีภาพที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปด้วย เพราะตามรัฐธรรมนูญ สว.กำหนดให้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยเหมือนกับ สส. ดังนั้น สว.ก็ควรเป็นที่รู้จักของประชาชนว่า คนๆ นั้นมีคุณสมบัติอย่างไร มีประสบการณ์อย่างไร ไม่เฉพาะผู้สมัครด้วยกันเองเท่านั้น
ข้อห้ามต่างๆ เหล่านี้ คิดว่า กกต.ไม่มีอำนาจในการที่จะสั่งห้ามให้เป็นระบบปิดถึงขนาดบังคับ จำกัดสิทธิในการแนะนำตัวของผู้สมัครมากเกินไป จะต้องมีความสมเหตุสมผลและผลประโยชน์โดยรวมของประชาชน ดังนั้นเราควรจะมีสิทธิในการแนะนำตัวผ่านสื่อโดยทั่วไปด้วย แต่กกต.เห็นว่า ให้แนะนำตัวผ่านผู้สมัครด้วยกันเองเท่านั้น อย่างนี้ กกต.ใช้อำนาจเกินส่วนไป
ขณะที่ น.ส.ชลณัฏฐ์ กลิ่นสุวรรณ หนึ่งในว่าที่ผู้สมัคร กล่าวว่า ระเบียบของ กกต.มีความขัดแย้งอยู่ในตัว เช่น บอกว่าผู้สมัครไม่สามารถหาเสียงกับประชาชนโดยทั่วไปได้ แต่หาเสียงกับผู้สมัครด้วยกันได้ คำถามคือจะแยกอย่างไรว่า ใครเป็นผู้สมัครในเมื่อเว็บไซต์ Senate67 มีการเปิดตัวผู้สมัคร แต่ถูก กกต.ข่มขู่ให้นำข้อมูลออก
"ส่วนที่ถามมาว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็น สว.สีส้มหรือเปล่านั้น ต้องยืนยันว่า พวกเราไม่มีสี สว.มีสีไม่ได้ ต้องมีอิสระ สิ่งที่เรายึดถือร่วมกันคือหลักประชาธิปไตย ถ้าหลักการของเราบังเอิญไปตรงกับพรรคการเมืองไหนก็เป็นเรื่องไม่แปลก คำถามที่ต้องถามกลับไปคือ พรรคการเมืองที่ไม่เอาหลักประชาธิปไตยผิดปกติหรือเปล่า" น.ส.ชลณัฏฐ์ กล่าว
ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า หลังจาก กกต.ได้ออกประกาศนี้ออกมาผู้ดูแลเว็บไซต์ Senate67 ก็มีความกังวลและมีความเสียใจที่ตัดสินใจนำข้อมูลทั้งหมดลงจากเว็บไซต์ก่อน
"ข้อมูลผู้จะสมัครกว่า 1,300 กว่า ตอนนี้ยังถือเป็นความลับและอยู่ในมือของทีมเว็บไซต์ แม้แต่ผมก็เข้าไม่ได้ แต่ถ้ามีข่าวดีว่า ศาลคุ้มครองให้ระเบียบไม่ถูกใข้บังคับ เว็บไซต์ก็จะกลับมาเหมือนเดิม" นายยิ่งชีพ กล่าว