นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขู่ร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ โดยไม่สนใจที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายในมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นอำนาจในการพิจารณาเป็นของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)
"ถ้ารัฐบาลยังคิดจะทำโดยไม่สนใจใยดีต่อกฎหมายป้ายหน้าก็เจอกันที่ ป.ป.ช. ต่อไป" นายราเมศ กล่าว
การที่รัฐบาลออกมาประกาศชัดเจนว่ามีนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.67 นั้น ต้องมาดูรายละเอียดอยู่พอสมควร เรื่อนนี้ต้องเป็นความเข้าใจตรงกันทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง เพราะต้องอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน เมื่อจะมีการปรับขึ้นค่าแรง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ กฎหมายจึงมีเจตนารมณ์ที่กำหนดกลไกให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือที่เรียกว่าไตรภาคี จะมีภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้แทนรัฐบาล ต้องพูดคุยกันเพื่อพิจารณา อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ มาตรฐานการครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และข้อเท็จจริงอื่นๆนำมาร่วมในการพิจารณา เพื่อนำไปสู่การพิจารณาขึ้นค่าแรง
โฆษกพรรค ปชป. กล่าวว่า เรื่องนี้ควรต้องแยกการพิจารณาออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดอีกด้วยเพราะข้อเท็จจริงในเรื่องการขึ้นค่าแรงไม่เหมือนกันทั้งหมด เมื่อได้ความเหมาะสมแล้วก็จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี
"ขั้นตอนต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกลไกการพิจารณา พรรคการเมืองและรัฐบาลจะพิจารณาเรื่องนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่การกำหนดเป็นนโยบายพรรคการเมืองที่ประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงเท่านั้นเท่านี้ ผมก็อยากถาม กกต.ว่าเป็นนโยบายที่ทำได้จริงถูกต้องตามกฎหมายแล้วเหรอ" นายราเมศ กล่าว
สิ่งที่น่าห่วงคือรัฐบาลบริหารราชการโดยไม่สนใจหลักเกณฑ์กฎหมาย รัฐบาลประกาศล่วงหน้าแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ประชาชนก็สับสน สุดท้ายถ้าไปคนละทางกับไตรภาคี ใครจะรับผิดชอบ รัฐบาลก็โยนบาปให้คนอื่นอีก อย่าทำการเมืองแบบเอาแต่ตัวเองได้ ควรคิดให้ละเอียดรอบคอบก่อน คิดให้ครบ รัฐบาลต้องคิดควบคู่กันไปคือเรื่องสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ก็จะเพิ่มมูลค่าทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง