บรรดานักกิจกรรมการเมือง อาทิ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" แกนนำทะลุฟ้า น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ "รุ้ง ปนัสยา" แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำกลุ่มราษฎร นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายเอกชัย หงส์กังวาน เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง หลังจาก น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิตระหว่างคุมขัง
พร้อม ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ ได้แก่
1. เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการเสียชีวิตของน.ส.เนติพรให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว
2. ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดได้รับสิทธิในการประกันตัว
3. ชะลอการดำเนินคดีการจับคุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้องไม่ยื่นอุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
4. เร่งรัดกันออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ที่มีมูลเหตุ มาจากคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แล้วหวังว่าจะไม่มีบุคคลใด จะต้องเสียชีวิต และทุกๆคนจะได้รับสิทธิในการประกันตัวและสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง
โดยทางกลุ่มจะมาติดตามข้อเรียกร้องอีกครั้ง ในวันที่ 21 พ.ค.นี้
หลังจากนั้นได้เดินทางไปรัฐสภา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาฯ เพื่อขอให้เร่งพิจารณากำหนดให้คดีกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย
น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตของ "บุ้ง ทะลุวัง" ในระหว่างการคุมขังในเรือนจำ ถือเป็นเหตุจำเป็นที่ กมธ.ควรพิจารณาให้ชัดเจนและจริงจังต่อการกำหนดให้คดีมาตรา 112 และคดีทางการเมืองได้รับการนิรโทษกรรม
พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ชะลอคดีความของผู้ต้องหาคดีทางการเมือง รวมถึงพักการดำเนินคดี ไม่ต้อนคนเข้าเรือนจำ หรือต้อนคนให้ไปตาย และขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองโดยสิทธิการประกันตัว ซึ่งคนต้องคดีการเมืองไม่ควรมีข้อยกเว้นที่จะได้รับสิทธิประกันตัว อีกทั้งควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ใช้สิทธิต่อสู้ในคดีอย่างเต็มที่
ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.นิรโทษกรรมฯ กล่าวว่า กมธ.ขอแสดงความเสียใจต่อกรณีของ น.ส.เนติพร และไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก แต่หลายเรื่องเป็นประเด็นในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับพนักงานสอบสวน อัยการ และ ศาล ส่วนรัฐสภา หรือรัฐบาลนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบ ไม่ใช่ผู้บริการกระบวนการยุติธรรม
"เรื่องนี้สำคัญอยู่ที่นโยบาย เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ พูดคุยและทำความเข้าใจในกระบวนการทำงาน หากทำงานแล้วหน่วยงาน เช่น ศาลไม่รับรู้ ศาลต้องยึดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้นหากเป็นการทำตามนโยบายในภาพรวมคือส่วนสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องหารือในทางออกร่วมกัน" นายชูศักดิ์ กล่าว
ประเด็นการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 กมธ.ไม่ได้ตัดออก แต่อยู่ระหว่างหารือข้อดี-ข้อเสีย ซึ่ง กมธ.พยายามทำเรื่องดังกล่าวให้ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด ส่วนสิทธิการประกันตัวถูกกำหนดให้เป็นดุลยพินิจของตุลาการ อย่างไรก็ดีข้อเสนอของภาคประชาชนนั้น กมธ.รับไว้และจะพิจารณาอย่างจริงจังและเต็มที่
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.63 ถึงวันที่ 30 เม.ย.67 รวม 1,954 คน จาก 1,295 คดี โดยมีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินมากที่สุด 1,466 คน และอันดับที่ 2 เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 272 คน