พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รำลึกกรณี 10 ปีรัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ผ่านมาแล้ว 10 ปีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 จุดกำเนิดของระบอบประยุทธ์ ซึ่งหมายถึงเครือข่ายผลประโยชน์ นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา แม้ว่าการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หายหน้าไปจากการเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หายไปจากตำแหน่งในรัฐบาล แต่ "ระบอบประยุทธ์" ไม่ได้หายไปไหน แต่จะยังคงอยู่กับเรา ตราบที่เราไม่เดินหน้ารื้อมรดก คสช. ซึ่งประกอบด้วยอย่างน้อย 3 วาระที่พรรคก้าวไกลพยายามผลักดันมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง ผ่านการยื่นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลในการทำให้สำเร็จ ประกอบด้วย
ปัญหา ในแง่การเมือง มรดกสำคัญของรัฐประหาร 2557 คือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ผ่านการขยายอำนาจของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (เช่น สว. ศาล รัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ) ให้สามารถอยู่เหนือหรือแทรกแซงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ทางออกคือ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อพาสังคมไทยออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 และสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ ด้วยความเชื่อว่าหากสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีแนวโน้มมากที่สุด ที่จะมีเนื้อหาที่พร้อมทำให้ทุกสถาบันทางการเมืองมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และพร้อมปิดช่องไม่ให้ศาลรับรองการทำรัฐประหารและไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้ก่อรัฐประหาร
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-2567 ได้แก่
(1) สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
(2) ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช.ฯ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งจากคณะรัฐประหารที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (เป็นร่างกฎหมายด้านการเงิน - รอนายกฯ ให้คำรับรองเพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ)
ปัญหา การที่วันนี้สื่อมวลชนยังมีคำถามว่าทหารจะรัฐประหารหรือไม่ ตอกย้ำให้เห็นชัดว่ากองทัพ ณ ปัจจุบัน ยังคงมีอำนาจหลายส่วนอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน สามารถแทรกแซงการเมืองหรือแม้แต่กิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจรักษาความมั่นคง เป็น ?ขุนศึก? ที่ถือครองที่ดินและธุรกิจโดยขาดการตรวจสอบจากประชาชน
ทางออกคือ ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน เพื่อเอาทหารออกจากการเมือง และทำให้กองทัพเป็นกองทัพยุคใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรักษาความมั่นคงของประเทศ มีความโปร่งใสมากขึ้นในการดำเนินการและการใช้งบประมาณ และได้รับความไว้วางใจมากขึ้นจากประชาชน
พรรคก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-2567 คือ
(1) ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหม เพื่อยกเลิกอำนาจพิเศษของกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน รวมถึงการปรับโครงสร้างอำนาจ-ที่มาของสภากลาโหม และกระบวนการแต่งตั้งนายพล (บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาฯ แล้ว รอการพิจารณาและลงมติในสมัยประชุมหน้า)
(2) เตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปศาลทหาร เพื่อป้องกันกระบวนการยุติธรรมหลายมาตรฐาน
ปัญหา ทุนใหญ่ได้ขยายอำนาจและส่วนแบ่งตลาดในทุกภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกด้านของปากท้องประชาชน ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร ไฟฟ้า ผ่านสายสัมพันธ์ที่มีกับเครือข่ายคณะรัฐประหาร กองทัพ ระบบราชการ และผ่านกฎกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการผูกขาด
ทางออกคือ ทลายทุนผูกขาด จากเดิมที่ระบบเศรษฐกิจถูกครอบงำโดยผู้เล่นไม่กี่ราย ต้องเปลี่ยนเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายย่อย
พรรคก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-2567
(1) ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพื่อปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจ (บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาฯ แล้ว รอการพิจารณาและลงมติในสมัยประชุมหน้า)
"ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลไม่เพียงปรารถนาที่จะเห็น แต่เราได้ใช้ทุกกลไกและวิถีทางที่มีอยู่ แม้ในฐานะฝ่ายค้านปัจจุบัน ในการผลักดันลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ออกจากสังคมไทย การต่อต้านและลบล้างผลพวงรัฐประหารย่อมไม่อาจเป็นจริงได้ผ่านเพียงคำพูด แต่ต้องพิสูจน์ผ่านการกระทำ เราหวังว่ารัฐบาลจะร่วมกันผลักดัน "ทุกวาระ" ข้างต้นร่วมกับพรรคก้าวไกล เพื่อสร้างประชาธิปไตยเต็มใบให้เกิดขึ้นและตั้งมั่นในสังคมไทย ทำให้รัฐประหาร 2557 เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย" พรรคก้าวไกล ระบุ