ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ) รับพิจารณาคำร้องของกลุ่ม 40 สว.ไว้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) กรณีเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เคยถูกศาลฎีกาลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์) ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
"ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) มีคำสั่งรับคำร้องผู้ถูกร้องที่ 1 ไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 54" คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
ส่วนกรณีของนายพิชิต ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากนายพิชิตได้ลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจึงไม่มีเหตุให้วินิจฉัย จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
คดีนี้ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา และนายพิชิต สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาว่า นายเศรษฐาได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิตเป็น รมต.นายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิต เคยเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง