ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ในหลายข้อ โดยคดีแรกที่นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้อง กกต. มีคำสั่งให้เพิกถอนระเบียบฯ ในข้อ 7, ข้อ 8 และข้อ 11 (2) รวม 3 ข้อ เนื่องจากเห็นว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ สว.เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการเลือก สว.มาปฏิบัติหน้าที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาชน
"จึงพิพากษา ดังนี้ (1) เพิกถอนข้อ 7 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2567 ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ระเบียบแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ (2) เพิกถอนข้อ 8 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งใช้บังคับในระหว่างวันที่ 27 เมษายน 2567 จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 (3) เพิกถอนข้อ 11 (2) ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ ให้ยก" คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุ
โดยระเบียบฯ ที่ศาลสั่งเพิกถอนในคดีนี้ ประกอบด้วย
ข้อ 7 การใช้เอกสารแนะนำตัวผู้สมัครให้ใช้เอกสารขนาดไม่เกิน A4 สามารถระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา ประวัติการศึกษา หรือประสบการณ์การทำงานในกลุ่มเท่านั้น ไม่เกิน 2 หน้า การแจกเอกสารตามวรรคหนึ่ง จะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้
ข้อ 8 ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวตามข้อ 7 และเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น
ข้อ 11 นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวในกรณี (2) ผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว
ส่วนอีกคดีที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพวกรวม 6 ราย ยื่นฟ้อง กกต. และประธาน กกต. มีคำสั่งให้เพิกถอนระเบียบฯ ในข้อ 3, ข้อ 7, ข้อ 8 และ ข้อ 11 (2) (3) รวม 4 ข้อ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้สมัครที่เกินความจำเป็นแก่การดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการแนะนำตัว เพื่อให้การเลือก สว.เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่สามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ได้ เช่น การเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย หรือต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
"จึงพิพากษา ดังนี้ (1) เพิกถอนข้อ 3 บทนิยามของคำว่า "การแนะนำตัว" ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 โดยให้มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ (2) เพิกถอนข้อ 7 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2567 ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ระเบียบแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ (3) เพิกถอนข้อ 8 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งใช้บังคับในระหว่างวันที่ 27 เมษายน 2567 จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 (4) เพิกถอนข้อ 11 (2) (3) ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุ
ขณะที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต. กล่าวภายหลังศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า เมื่อคำตัดสินของศาลออกมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และศาลเห็นว่าควรให้สิทธิประชาชนมากขึ้น กกต.ก็รับฟัง
"ถึงแม้จะมีสิทธิอุทธรณ์ แต่ถ้าสำนักงานฯ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ ก็รับฟัง ซึ่งจะได้เสนอ กกต.ให้พิจารณาต่อไป แต่คิดว่าคงเห็นไม่ต่างกัน" นายแสวง กล่าว