สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศทางออนไลน์และภาคสนามเรื่อง "คนไทยกับการเลือก สว.ชุดใหม่ 2567" จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,127 คน ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่าง 54.30% รู้ว่าผู้จะสมัคร สว.ต้องมีอายุครบ 40 ปีบริบูรณ์ มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี และเสียค่าสมัคร 2,500 บาท ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 57.68% รู้ว่าผู้สมัคร สว.หาเสียงไม่ได้ ให้แนะนำตัวได้เท่านั้น แต่กลุ่มตัวอย่าง 55.81% ไม่รู้ว่าจะมีการเลือก สว.ชุดใหม่รอบแรก (รอบระดับอำเภอ) ในวันที่ 9 มิ.ย.67
โดยกลุ่มตัวอย่าง 50.31% ไม่รู้ว่าผู้ที่จะมีสิทธิเลือก สว.ไม่ใช่ทุกคน มีเฉพาะผู้สมัคร สว.ด้วยกันเท่านั้น และกลุ่มตัวอย่าง 52.35% ไม่รู้ว่า สว.ชุดใหม่มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรตรวจสอบอิสระ และเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ความคาดหวังของประชาชนต่อ สว.ชุดใหม่ มากสุดอันดับ 1 คือ ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ถูกต้อง 56.71% อันดับ 2 คือ ประวัติดี ซื่อสัตย์ สุจริต 53.88% อันดับ 3 คือ ตั้งใจทำงาน เป็นที่พึ่งของประชาชน 44.24% อันดับ 4 คือ มีวิสัยทัศน์ทันการเปลี่ยนแปลง 36.47% และ อันดับ 5 คือ เป็นคนรุ่นใหม่ 34.12%
น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล กล่าวว่า ประชาชนขาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งและบทบาทของ สว. ทั้งๆ ที่ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาแล้ว กกต.จึงควรเร่งสื่อสารและให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้นเพื่อให้การเลือกตั้ง สว.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน
นายยอดชาย ชุติกาโม ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า บรรยากาศของการรับสมัครเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่ ที่มีจำนวนผู้สมัครแตกต่างจากที่ กกต.คาดการณ์ไว้พอสมควร สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานด้านการสื่อสารข้อมูลของ กกต.ต่อการรับรู้และความเข้าใจของประชาชน ซึ่งมีนักวิชาการและนักการเมืองบางคนสะท้อนว่าเป็นความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนหรือไม่ การที่กลุ่มตัวอย่างรับรู้ถึงคุณสมบัติและข้อจำกัดของ สว.อยู่บ้างในเรื่องการแนะนำตัวหรือหาเสียงอาจเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อ กกต.ซึ่งเป็นผู้ออกระเบียบปฏิบัติ