"ชัยธวัช" ชี้นิรโทษกรรมคดี 112 ยากขึ้นหลังอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง "ทักษิณ"

ข่าวการเมือง Thursday May 30, 2024 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยธวัช ตุลาธน สส. และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยอมรับการขับเคลื่อนให้มีการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 จะมีอุปสรรคมากขึ้นหลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องในคดีความผิดตามมาตรา 112

ที่ประชุม กมธ.ยังไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีของนายทักษิณทำให้การเสนอนิรโทษกรรมมีปัญหาทางการเมืองมากขึ้น แต่การทำงานของ กมธ.ที่จะประชุมกันวันนี้ในประเด็นของมาตรา 112 ไม่ใช่วาระหลักที่จะพิจารณา แต่เป็นเรื่องกลไกกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่ควรจะได้รับการนิรโทษกรรม ทั้งองค์ประกอบ อำนาจ หน้าที่ ซึ่งมอบหมายให้อนุกรรมการไปศึกษา

"คณะกรรมการจะพิจารณาคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมแทนการบัญญัติฐานความผิดให้นิรโทษกรรมโดยอัตโนมัติ เพราะอาจไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีคดีความต่อเนื่องยาวนาน อย่างไรก็ดี ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ากรรมการอาจมีอำนาจเหนือศาลหรือรัฐบาลนั้น ข้อเท็จจริงกฎหมายนิรโทษกรรมคือการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมผ่านอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ สามารถทำได้ ซึ่งทำมาทุกครั้ง เช่น การนิรโทษกรรมในอดีต ในคดีมาตรา 112 สามารถออก พ.ร.ก.แบบสั่งให้คดีหมายเลขนี้ที่อยู่ในชั้นศาลให้ปล่อยตัวได้" นายชัยธวัช กล่าว

หลักการของผลศึกษาต้องเสนอแนวทางของการออกกฎหมายที่มีรายละเอียด ไม่ใช่เสนอแค่กรอบกว้างๆ จับต้องไม่ได้ คือ ต้องมีการพิจารณาในกรอบคดีที่ควรได้รับการพิจารณา กรอบเวลากระบวนการนิรโทษกรรม รวมถึงทางเลือก ข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงรายละเอียดว่านิรโทษกรรมจะกินความแค่ไหน จะรวมถึงการล้างมลทินให้บุคคลที่เคยได้รับคำพิพากษาหรือได้รับโทษเสร็จสิ้นหรือไม่ เป็นต้น

ส่วนการกำหนดบัญชีแนบท้ายเพื่อนิรโทษกรรมความผิดเป็นประเด็นที่ถกเถียงเช่นกันว่าจะมีบัญชีแนบท้ายหรือไม่ หากพิจารณาให้มีกรรมการแล้วบัญชีแนบท้ายไม่จำเป็น อีกทั้งการเสนอบัญชีความผิดใน 25 ฐานความผิด รวมกันแล้วมีมากถึง 2 ล้านคดี ซึ่งการใส่บัญชีนั้นมีข้อจำกัดในตัวเอง

"กมธ.จะเร่งทำงานให้เกิดรูปธรรม และสรุปว่าจะใช้กลไกแบบไหนเพื่อพิจารณานิรโทษกรรม รวมถึงมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขบางคดี หรือบางประเภทเพื่อเป็นเงื่อนไขหรือกระบวนการเบื้องต้นก่อนได้รับพิจารณานิรโทษกรรมหรือไม่ หรือเป็นเอมเนสตี้โปรแกรม เพื่อพิจารณาเรื่องที่ละเอียดอ่อนทางการเมือง ซึ่งหลังจากนี้จะประชุมทุกสัปดาห์เพื่อทันส่งให้สภาฯ พิจารณาช่วงเปิดสมัยประชุมในเดือน ก.ค.นี้" นายชัยธวัช กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ