นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงกระบวนการเลือก สว.ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิ.ย.67 กรณีที่อำเภอหนึ่งมีผู้สมัครเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว หรือในวันเลือกบางกลุ่มไม่มารายงานตัวทั้งกลุ่ม หรือมีผู้สมัครถูกถอนชื่อ และอาจจะทำให้เหลือเพียงกลุ่มเดียวได้ แต่ที่ผ่านมา สังคมมองว่า กกต.ไปตัดสิทธิคนกลุ่มนี้ ขอยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ตัดสิทธิผู้สมัครกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราก็จะให้ทำการเลือกเหมือนเดิม และต้องไปใช้สิทธิ ถ้าเกิน 5 คน ก็ต้องเลือกกันเองให้เหลือตามสิทธิที่จะเข้าไปในรอบที่ 2 เป็นการเลือกไขว้ แต่หากไม่มีกลุ่มมาเลือก ก็ต้องถือว่าไม่มีคะแนน
"เราขอให้ท่านมาใช้สิทธิ เพื่อจะได้นำสิทธินี้ไปใช้เป็นสิทธิในการร้องศาลอื่น ถ้าเห็นว่ามีหน่วยงานไหนที่จะให้สิทธิท่านได้ เราอยากช่วย แต่กฎหมายให้เราเดินได้แค่นี้" นายแสวง กล่าว
ส่วนการทำรูปแบบบัตรใหม่นั้น มีเจตนาเพื่อคุ้มครองประโยชน์ผู้สมัคร เพราะบัตรรูปแบบเดิม เมื่อมีการรวมกลุ่ม 4-5 กลุ่มของสาย การลงคะแนนอาจทำให้เกิดบัตรเสียได้ทั้งกลุ่มได้ จึงต้องทำรูปแบบบัตรใหม่ เพื่อที่ว่าหากเกิดเหตุดังกล่าวแล้ว จะทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เสียเฉพาะคนในกลุ่มนั้น ส่วนเมื่อทำบัตรใหม่แล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องการบริหารจัดการ เพราะสำนักงาน กกต. คิดไว้มากกว่าที่คนตั้งข้อสังเกต เรามีการอบรมในการดำเนินการ และก่อนวันเลือก 3 วัน ก็จะมีการแจกคู่มือสำหรับผู้สมัคร ซึ่งได้แทรกเรื่องนี้ไปพร้อมเอกสารแนะนำตัว สว. ในวันเลือก สามารถนำเอกสารคู่มือเข้าไปด้วย ขณะเดียวกัน ผอ.การเลือก ก็จะแนะนำวิธีการเลือกในแต่ละชั้นอยู่แล้ว ดังนั้นอยากให้สบายใจได้
ส่วนประเด็นฮั้ว การซื้อเสียง การจัดตั้งลงสมัคร สว. นายแสวง กล่าวว่า กกต. คงจะไปลงโทษคนจากความเห็นไม่ได้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคนไม่วาเป็นผู้สมัคร หรือใคร เราอยากให้การเลือก สว.มีความสุจริตเที่ยงธรรม เราไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่อง ฮั้ว จัดตั้ง ขอคะแนนกัน จริงๆ มีคนอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งตนได้รับเรื่องร้องเรียนทุกวัน
"ใส่เสื้อสีเดียวกัน ถ่ายรูปร้านเดียวกัน ผิดหรือไม่ ก็ไม่ผิด แต่ต้องดูว่าทำเกินกว่าการใส่เสื้อสีเดียวกันหรือไม่ เราไม่นิ่งนอนใจ แต่ต้องรอการพิสูจน์เสียก่อน เราได้ดำเนินการตลอดเวลา จริงจังกับเรื่องนี้ มีคนตรวจสอบทุกพื้นที่" นายแสวง กล่าว
สำหรับเรื่องคุณสมบัติ และเอกสารประกอบ ยังมีความเข้าใจผิดในหลายเรื่อง เราตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งผู้สมัครต้องรับรองตนเอง การลงกลุ่มไม่นับว่าเป็นเรื่องของคุณสมบัติ แต่เป็นเรื่องเอกสารประกอบ เพราะเราไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันทีว่าอยู่กลุ่มไหน กฎหมายจึงให้รับรองให้สมัคร ยังไม่ได้เป็นการคัดกรอง ให้แค่ประชาชนรับรอง
ดังนั้นเรื่องนี้ต้องแยกออกจากเรื่องคุณสมบัติ แต่หากทำผิด แจ้งเอกสารเท็จ ทั้งคุณสมบัติต้องห้าม และเอกสารประกอบ เราสามารถลงโทษได้ แต่ถ้าเขาบอกความจริง ไม่ใช่เอกสารเท็จ เช่น เป็น อสม. ไม่ได้แจ้งเท็จ เพราะเป็น อสม.อาจจะมีมุมมองว่า ตัวเองสามารถลงกลุ่มนี้ได้ แต่ไม่ใช่คุณสมบัติ ให้แยกกัน วันที่สมัครเราไม่ได้ไปก้าวก่ายการรับรองของผู้สมัคร และผู้รับรอง รับรองกลุ่มไหน ก็จะได้ลงกลุ่มนั้น ป้องกันปัญหาการสับหลีกคำแนะนำให้คนไปลงสมัครกลุ่มที่มีคนน้อย