จากกรณีเว็บไซต์รัฐสภา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน โดยมีเนื้อหารวมให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำผิด ม.112 ด้วย ตั้งแต่ 13 พ.ค. ถึงวันที่ 12 มิ.ย. ปรากฏว่า มีจำนวนผู้ร่วมโหวต 90,503 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยถึง 64.66% ขณะที่เห็นด้วยมีเพียง 35.34%
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการแทรกแซงมีความผิดปกติหลายจุด รวมถึงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กลุ่มคนที่มาโหวตเป็น io เข้ามาโหวตเห็นด้วยในวันสุดท้ายของการโหวต ทำให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯคนที่ 1 สั่งตรวจสอบในกรณีดังกล่าว
โดยร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดให้นิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ โดยมีคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนเป็นผู้วินิจฉัยการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เว้นแต่คดีดังต่อไปนี้ไม่ต้องพิจารณาวินิจฉัย ดังนี้
1.คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2.คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557
3.คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
4.คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
5.คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
6.คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับคดีข้างต้น
ทั้งนี้ การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหรือการสลายการชุมนุมที่เกินสมควรกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้รับนิรโทษกรรม และหากการกระทำของบุคคลที่ได้รับนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้สร้างความเสียหายแก่บุคคล ซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้เสียหายนั้นยังคงมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้กระทำ
ด้านนายยุทธพร อิสรชัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวว่า กรณีเว็บไซต์รัฐสภาเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน แล้วมีผู้ไม่เห็นด้วยมากกว่า ทาง กมธ.ไม่มีอำนาจไปปัดตกใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากทั้งร่างของประชาชนและร่างของพรรคการเมืองเป็นเอกสิทธิ์ของสภา ฯ แต่หาก กมธ. มีข้อเสนอก็จะหยิบจับไปเสนอต่อสภา ฯ ซึ่งสภามีเอกสิทธิ์ที่จะฟังข้อเสนอหรือไม่ก็ได้ จะฟังทั้งหมด หรือจะฟังแค่เพียงบางส่วนไปใช้ เพื่อไปผนวกกับร่างกฎหมายก็ได้ โดยร่างทั้งหมดที่ถูกเสนอเข้าสภา ฯ ขณะนี้ สภา ฯ มีเอกสิทธิ์ที่จะนำร่างทั้งหมดมารวมกันทั้งหมด หรือจะไม่เอาร่างกฎหมายใดมาเลย แล้วยกร่างทั้งฉบับก็ได้ ทั้งนี้ ตนเห็นว่าควรจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ และไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิด เนื่องจากคนมักจะหยิบโยงไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองว่า จะไปช่วยคนนั้นคนนี้เป็นพิเศษ หรือยกเว้นความผิด