ก้าวไกล ซัด กกต.ยื่นยุบพรรคตามอำเภอใจ ข้ามขั้นตอน

ข่าวการเมือง Thursday June 13, 2024 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า กรณีนายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการสั่งยุบพรรคก้าวไกล สิ่งที่ กกต.สื่อสารนั้นเป็นปัญหา เพราะกระบวนการที่จะยื่นยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงสืบสวนสอบสวนเป็นเบื้องต้น ทั้งนี้การอ่านกฎหมาย อย่าตีความแบบศรีธนญชัย กฎหมายเขียนลำดับไว้อย่างชัดเจน

ตนเข้าใจในสิ่งที่ กกต.บอกว่า การยุบพรรคการเมืองนั้นมี 2 ช่องทาง คือ 1.พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่งก็เป็นเรื่องของ กกต.ที่หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าสามารถยื่นได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีกระบวนการสอบสวน สามารถใช้ดุลยพินิจได้ตามอำเภอใจที่จะยื่นคำร้อง 2.มาตรา 93 ซึ่งเป็นเรื่องของนายทะเบียน ไม่ได้เกี่ยวกับ กกต. หากมีความปรากฏว่าพรรคการเมืองกระทำผิดถึงขั้นยุบพรรคก็ให้ไปสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงตามระเบียบที่ออกไว้

"ตามเอกสารของ กกต.ในการอบรมพรรคการเมือง ไม่ได้บอกว่า การยุบพรรคตามมาตรา 92 ต้องดำเนินการตามมาตรา 93 ซึ่งตามระเบียบมีช่องทางเดียวเท่านั้น กกต.ไม่เคยอธิบายตรงไหนเลยมาก่อนว่า นอกจากช่องทางนี้แล้ว วันดีคืนดี กกต.เห็นว่าตัวเองมีหลักฐานก็สามารถยื่นคำร้องได้เลย โดยไม่มีกระบวนการสืบสวนสอบสวน เป็นไปได้หรือไม่ เรื่องยุบพรรคการเมือง ไม่ใช่เล่นขายของ กกต.ยืนยันว่าทำได้ เพราะในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติได้ทำแบบนี้มาแล้ว ซึ่งคือไม่ได้ผ่านกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงตามมาตรา 93 และไม่ได้วินิจฉัยว่ากระบวนการคำร้องของ กกต.ชอบหรือไม่" นายชัยธวัช กล่าว

ขณะนั้น กกต.ยังไม่เคยมีการออกระเบียบสำหรับการยุบพรรคการเมืองโดยเฉพาะ อาจจะพอถูไถกันไปได้ เพราะคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องกระบวนการคำร้องชอบหรือไม่ เกิดขึ้นหลังจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ โดยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการยุบพรรคตามมาตรา 92 ต้องทำประกอบกับมาตรา 93 และระเบียบของ กกต. แต่ขณะนั้นระเบียบเก่าไม่ได้บังคับให้ กกต.รวบรวมข้อเท็จจริง และแจ้งให้กับพรรคผู้ถูกร้องทราบก่อน เพื่อให้มีการต่อสู้ชั้นต้นของ กกต.ก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ระเบียบที่ใช้ให้ไปใช้อีกระเบียบหนึ่งในการไต่สวนสอบสวนคดีอาญา โดยอนุโลม กกต. ให้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบทุกข้อ มองว่า กกต. ชี้แจงแบบนี้ก็ไม่เป็นไร คงเป็นประเด็นที่ต้องไปต่อสู้กันในศาลรัฐธรรมนูญ

กรณีที่ กกต.ยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 ม.ค.67 ได้ระบุชัดเจนว่าการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ กกต.ไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้นั้น เป็นคนละเรื่อง นั่นคือเรื่องของพยานหลักฐาน การมีพยานหลักฐานที่ กกต.เชื่อแล้วว่าเพียงพอ ไม่ได้หมายความว่า กกต.ไม่จำเป็นต้องทำกระบวนการรวบรวมหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนด อย่าสับสนระหว่าง กกต. เห็นว่า พยานหลักฐานมีน้ำหนักหรือไม่

"กกต.อ้างว่าคำวินิจฉัยที่แล้วผูกพัน ผมอยากถามว่า อะไรผูกพัน คำวินิจฉัยตามมาตรา 49 ในคำวินิจฉัย 3/2567 ผูกพันใคร นี่คือการวินิจฉัยสั่งการให้การกระทำ คือสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำ 2 การกระทำ คือเลิกแสดงความคิดเห็นและรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 และห้ามไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติโดยมิชอบ นี่คือผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพัน ซึ่งผูกพันกับคนที่ถูกร้อง" นายชัยธวัช กล่าว

หากพิสูจน์แล้วว่า กกต.ยื่นคำร้องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจริงจะมีการดำเนินคดีกับ กกต. อย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า รอให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ