นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า งบประมาณปี 68 สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลยังเลือกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ การลงทุนยกระดับทักษะของคนในประเทศ
ทั้งนี้ จากงบประมาณปี 68 เป็นงบด้านการศึกษา การเรียนรู้ และการยกระดับทักษะ รวม 5.1 แสนล้านบาท กระจายไป 14 กระทรวง ซึ่งพบปัญหาหลัก ๆ 3 ประเด็น คือ
1. งบเรียนรู้ที่ไม่เน้นเรียนรู้ เป็นงบที่ลงไปกับโครงการที่ดูดี แต่เมื่อดูในรายละเอียด กลับกลายเป็นการลงทุนไปกับกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมหรือยกระดับทักษะ เช่น โครงการพลิกโฉมผลิตภาพแรงงานไทย ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้งบ 381 ล้านบาท ซึ่งเกือบ 20% ใช้งบไปกับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
2. ปัญหาที่ต่างคนต่างทำ ทำให้โครงการแต่ละหน่วยงานซ้ำซ้อนกัน รวมถึงมีแฟลตฟอร์มการเรียนรู้ทักษะทุกช่วงวัยที่มากเกินไป รวมถึงเนื้อหาการเรียนรู้แต่ละแฟลตฟอร์มซ้ำซ้อนกัน
3. การลงทุนที่ผู้เรียนไม่เลือก ผู้เลือกไม่ได้เรียน เพราะมีกระทรวงในการคิดแทนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีรัฐที่คิดแทนตลาดในการยกระดับทักษะแรงงาน
"การศึกษา เราจะตัดเสื้อให้เข้ากับเด็กแต่ละคนที่มีความชอบ ความถนัดไม่เหมือนกันไม่ได้เลย ตราบใดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีความใกล้ชิดกับผู้เรียน ยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจว่างบประมาณที่ใช้ในโรงเรียนของเขานั้น จะใช้ไปกับอะไร เพราะที่สังเกตเห็น คือ เมื่อให้กับโรงเรียนก็จะแบ่งเป็น 5 ก้อน ซึ่งเป็นการสร้างข้อจำกัดของการใช้งบเป็นอย่างมาก" นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ ได้เสนอแนวทางการจัดงบประมาณให้ตอบโจทย์การยกระดับทักษะการเรียนรู้ ดังนี้
1.อัดฉีดงบฯ ให้ท้องถิ่นดูแลเด็กเล็กใน 1,000 วันแรก และต้องอัดฉีดงบ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสามารถขยายวัน-เวลาเปิดศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้ว เปิดได้ถึงเย็นและเปิดได้ตลอดปี รวมถึงขยายช่วงอายุเด็ก ที่ส่วนกลางอุดหนุนท้องถิ่นสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ
2.ระเบิดงบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระจายให้โรงเรียน ครู และนักเรียน โดยให้กระทรวงจัดสรรงบไปที่โรงเรียนเป็นก้อนเดียว และให้โรงเรียนไปบริหารจัดการเอง
3.การลงทุนในเมกะโปรเจคท์ด้านทักษะ โดยเปลี่ยนการลงทุนจากเบี้ยหัวแตกที่ต่างคนต่างทำ กระจายไปในหลายโครงการ มาเป็นการรวมพลังกันทำ รวมทรัพยากรมากระตุ้นผ่าน 1 โครงการหลัก และรัฐต้องตั้งงบเพื่ออุดหนุนประชาชนให้เข้ามาเรียน ผ่านการอุดหนุดคูปองฝึกทักษะ 3 รูปแบบ ได้แก่ ทักษะพื้นฐาน เช่น ทักษะภาษา หรือทักษะดิจิทัล, ทักษะเชิงลึก เช่น ทักษะสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่อีวี และทักษะชีวิต เช่น ทักษะเลี้ยงเด็ก ทักษะสังเกตอาการสุขภาพจิต
"หากท่านกังวลว่าเราจะหางบบประมาณมาจากไหน ได้ยินว่าปีนี้มีโครงการที่น่าจะใช้งบประมาณมากกว่าที่พูดถึง 10 เท่า ด้วยเหตุผลที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า หวังว่าถ้าจะขอใช้งบประมาณ 10% ของมูลค่าโครงการนั้น เพื่อมาใช้ในการยกระดับทักษะของคนทุกช่วงวัย หวังว่าจะไม่เป็นการขอที่มากจนเกินไป" นายพริษฐ์ กล่าว